นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.65) มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,247 โครงการ เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,149 โครงการ และมูลค่ารวม 439,090 ล้านบาท ลดลง 14% จาก 511,050 ล้านบาท เนื่องจากปีที่แล้ว มีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้ายื่นขอรับการส่งเสริมหลายโครงการ มูลค่ารวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท และคาดว่าทั้งปี 65 จะมีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม ประมาณ 6 แสนล้านบาท และตั้งเป้าปี 66 มีมูลค่าสูงกว่า 6 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงกับการลงทุนจริงมากที่สุดจะพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการออกบัตรส่งเสริม 1,101 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมูลค่ารวม 357,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% เป็นสัญญาณว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น
ในช่วง 9 เดือน คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีมูลค่ารวม 286,699 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่ารวม 275,624 ล้านบาท โดยการลงทุนจากจีน มีเงินลงทุนมากที่สุด 45,024 ล้านบาท ตามด้วยไต้หวัน 39,256 ล้านบาท และญี่ปุ่น 37,591 ล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนจากจีนและไต้หวัน ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดว่าการลงทุนใน 2 สาขานี้ จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 376 โครงการ เงินลงทุนรวม 246,655 ล้านบาท คิดเป็น 56% ของการลงทุนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในจังหวัดระยองและชลบุรี
นอกจากนี้ มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 234 โครงการ เพิ่มขึ้น 86% และมีเงินลงทุน 15,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยและนำระบบอัตโนมัติมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สอดรับกับสังคมผู้สูงวัย รองลงมาคือ การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนหรือการประหยัดพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการลดคาร์บอนของโลก
สำหรับปัจจัยการเมืองซึ่งใกล้เข้าสู่การเลือกตั้งนั้น นายนฤตม์ กล่าวว่า ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน เพราะนักลงทุนมองปัจจัยทางธุรกิจเป็นหลัก หากปัจจัยทางธุรกิจเอื้อต่อการลงทุน มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีกฏระเบียบที่ดีเป็นมิตรกับการลงทุน มีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจ เรื่องเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจต่อการลงทุนมากกว่า และบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจในไทยมานานจะทราบดีว่า การเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ตามก็ไม่ส่งผลกระทบและยังสามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 65)
Tags: BOI, การลงทุน, นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์, บีโอไอ