พรีไซซฯ ขาย IPO 307 ล้านหุ้นเกลี้ยง ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้นำด้าน Smart Grid ครบวงจร

นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น (PCC) เปิดเผยว่า การจองซื้อหุ้นไอพีโอของ PCC จำนวน 307 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาทต่อหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.00 บาท ระหว่างวันที่ 10-12 ต.ค.65 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างคึกคัก ทั้งนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบัน เนื่องจากมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของ PCC ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน Smart Grid ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบกับเป็นบริษัทฯ ที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตไปพร้อมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมีงบพัฒนาระบบสมาร์ทกริด เกือบ 2 แสนล้านบาท และเป็นหุ้นรายแรกที่เน้นระบบส่งและจำหน่าย Smart Grid ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ การที่หุ้น PCC ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากการกำหนดราคาหุ้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) เท่ากับ ประมาณ 19.16 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม โดยหุ้น PCC เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศ ในวันที่ 21 ต.ค.นี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรม ทรัพยากร พลังงานและสาธารณูปโภค

PCC ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ประกอบด้วยสายธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจำหน่ายไฟฟ้า งานบริหารโครงการ งานบริการ งานบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าทั้งแรงต่ำและแรงสูงขนาดไม่เกิน 115 kv และระบบบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Power Distribution & Energy Management System) 2. กลู่มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง พร้อมผลิตติดตั้งระบบควบคุมสำหรับระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ และผลิตมิเตอร์อัจฉริยะ (Intelligent Grid) และ 3. กลุ่มธุรกิจลงทุนผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และผลิตเชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน (Renewable Energy) และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCC กล่าวว่า โครงการในอนาคตที่สำคัญมีทั้งหมด 6 โครงการ คือ 1.ตั้งศูนย์การขายและการตลาด (Group Integration Sale & Marketing Center) ใช้เป็นสำนักงานขายสำหรับฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด นอกจากนี้ยังเป็น point of sale ของกลุ่มบริษัท เพื่อขยายยอดขายของกลุ่มบริษัท เนื่องจากบริษัทเพิ่ม scale ของการผลิตในสินค้าเดิมและขยายสินค้าใหม่

2.โครงการเพิ่มกำลังการผลิตของหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย โดยที่เพิ่มกำลังการผลิต 3 เท่า หรือคิดเป็นกำลังการผลิตรวมประมาณ 1,080 MVA ต่อปี ภายในปี 67

3.โครงการเพิ่มกำลังการผลิตตัวถังหม้อแปลงไฟฟ้าและตู้โลหะสำหรับ ตู้สวิตช์เกียร์ ตู้สวิตช์บอร์ด และตู้อุปกรณ์ควบคุมอื่นๆ เพื่อขยายกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับโครงการที่กล่าวไปข้างต้น และการเพิ่มการผลิตของตู้สวิตช์เกียร์ ตู้สวิตช์บอร์ดในอนาคต

4. ตั้งโรงงานผลิตในประเทศกัมพูชา โดยผลิตสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า หม้อแปลงเครื่องวัด และตู้ควบคุมไฟฟ้าชนิดต่างๆ ในประเทศกัมพูชา เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในฐานะผู้ผลิตในประเทศ และได้รับการส่งเสริมการลงทุน สำหรับขายสินค้าดังกล่าวโดยตรงกับการไฟฟ้ากัมพูชา

5.โครงการติดตั้งระบบจัดการพลังงาน (Factory Energy Management) มีแผนติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อควบคุมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็น pilot project เพื่อนำเสนอลูกค้าภายนอกในอนาคต

6.โครงการธุรกิจไผ่ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่ ตั้งโรงผลิตต้นกล้าไผ่ (Bamboo Plant Factory-Tissue Culture) เพื่อพัฒนาต้นกล้าไผ่ ปลูกแม่พันธุ์ และลานอนุบาลต้นกล้าไผ่สายพันธ์ต่างๆ เพื่อขายให้กับผู้สนใจในการปลูกไผ่ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไผ่ในอนาคต และผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ปลอดเคมีจากเยื่อไผ่ (Bamboo Packaging) ที่ปลอดภัยในการสัมผัสกับอาหาร และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ภัตตาคาร ร้านอาหาร และผู้รับจัดเลี้ยง ตลอดจนการขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce platform)

โดยทั้งสองโครงการนี้ทางหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้ทุนร่วมในการสนับสนุนด้วย

สำหรับผลประกอบการล่าสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,727 ล้านบาท เติบโต 15.3% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1,498 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 134 ล้านบาท เติบโต 67.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 80 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ต.ค. 65)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top