แบงก์ชาติสิงคโปร์คุมเข้มนโยบายการเงิน สกัดเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินในวันนี้ (14 ต.ค.) เป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี และส่งสัญญาณที่จะคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีก ท่ามกลางแนวโน้มเงินเฟ้อขาขึ้นและความไม่แน่นอนทั่วโลก

MAS เปิดเผยในการประชุมนโยบายตามหมายกำหนดการในวันนี้ว่า จะปรับนโยบายการเงินผ่านการกำหนดค่ากลาง (Mid-Point) ของกรอบนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) โดยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงความชัน (Slope) และความกว้าง (Width) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยน

MAS คุมเข้มนโยบายการเงินนอกกำหนดการจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ในเดือนม.ค.และก.ค. เนื่องจากเงินเฟ้อในสิงคโปร์ยังคงปรับตัวขึ้น โดย MAS ดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินผ่านทางการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าอัตราดอกเบี้ย

MAS ระบุว่า เงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์มีแนวโน้มจะอยู่ที่ราวระดับ 5% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต้นปีหน้า โดยการคุมเข้มนโยบายการเงินทั้งหมดที่ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้นั้นจะลดระดับเงินเฟ้อลง ขณะที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามอุปสงค์ที่อ่อนแอทั่วโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินรอบล่าสุดนั้นถือเป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา และนักวิเคราะห์บางคนระบุว่า อาจจะมีการคุมเข้มนโยบายอีก

เซเลนา หลิง หัวหน้าฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ด้านการเงินของโอซีบีซีระบุว่า การดำเนินการของ MAS ในวันนี้นั้นบ่งชี้ว่า MAS มีความวิตกลดลงเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ซึ่งจะสามารถดูแลได้ผ่านทางการกำหนดงบประมาณที่จะมีขึ้น

เซเลนาระบุว่า MAS จะคุมเข้มนโยบายการเงินอีกในการทบทวนนโยบายตามกำหนดในเดือนเม.ย.ปีหน้า

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top