ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศให้การเช่าซื้อรถยนต์-จยย.เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ.2542 โดยจะมีผลบังคับใช้หลังพ้นกำหนด 90 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (12 ต.ค.65) เป็นต้นไป

โดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญ ได้แก่

1.การกำหนดสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวดตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี

  • กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบต่อปี
  • กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี
  • กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละยี่สิบสามต่อปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุกสามปี

2.กรณีผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวดสามงวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้ค่าเช่าซื้อรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้

3.ก่อนนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดที่เหมาะสม

  • ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อก่อนภายในระยะเวลา 20 วัน ได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ
  • ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาด พร้อมระบุชื่อผู้ทำการขาย วัน และสถานที่ที่ทำการขาย, ห้ามปรับลดราคาเว้นแต่จะได้มีหนังสือแจ้งราคาที่จะปรับลดนั้นให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบก่อน, หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงินส่วนที่เกินให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาด, ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เข้าสู้ราคาไม่ว่าโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาด

4.กรณีผู้เช่าซื้อประสงค์จะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลด

  • กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่เกินหนึ่งในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
  • กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามแต่ไม่เกินสองในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
  • กรณีชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่าสองในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ต.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top