ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วันนี้ได้หยิบยกคำขอควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) มาพิจารณา แต่ยังไม่มีข้อสรุป โดย กสทช.ตัดสินใจจะรอผลการศึกษาของที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่ กสทช.ได้ว่าจ้างไว้ ดังนั้น จึงนัดประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าวในวันที่ 20 ต.ค.นี้
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช.วันนี้มีมติกำหนดการพิจารณาวาระการรายงานการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ในวันที่ 20 ต.ค.65 เพื่อรอรายงานผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระจากต่างประเทศเกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะส่งมาให้สำนักงาน กสทช.ในวันที่ 14 ต.ค.65 ซึ่งต้องนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณา เนื่องจากการรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ข้อมูลทุกๆ ด้านจึงมีความสำคัญ โดยคาดว่าจะได้ข้อยุติในวันดังกล่าว
ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการ กสทช.ซึ่งเป็นอดีตกรรมการกสทช. กล่าวถึงสาเหตุที่บอร์ด กสทช.ยังไม่มีข้อสรุปดีลควบรวม TRUE-DTAC ในวันนี้ เนื่องจากที่ประชุมเห็นตรงกันให้พิจารณารายงานผลการศึกษาฉบับเต็มที่ทำโดยบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ (SCF Associate ) หลังจากมีการส่งรายงานเบื้องต้นเฉพาะข้อสรุป ตัวรายงานฉบับเต็มจะส่งมาถึงในวันที่ 14 ต.ค.65 ทำให้บอร์ดหลายคนเห็นว่าควรรอพิจารณารายงานฉบับเต็มให้รอบคอบก่อนจึงจะมีความเห็นสรุป
“ประเด็นที่บอร์ดต้องพิจารณาเมื่อได้อ่านรายงานของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศที่ทำการศึกษาผลกระทบการควบรวมแล้ว จะเพิ่มพิจารณาในประเด็นแรก คือ บอร์ดมีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ หากเห็นว่ามีอำนาจประเด็นถัดมาคือบอร์ดจะอนุญาตหรือไม่ โดยส่วนนี้จะคำนึงถึงประโยชน์ของการควบรวมธุรกิจกับผลกระทบที่เกิดจากการควบรวมอะไรที่มีมากกว่ากัน ถ้าผลกระทบบรรเทาได้ด้วยมาตรการรองรับการควบรวมหรือไม่ ถ้าผลกระทบมีมากกว่ามาตรการควบรวมแนวโน้มจะไม่อนุญาตให้ควบรวมมีมากกว่า
ทั้งนี้ ในวันที่ 20 ต.ค.65 จะมีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อพิจารณากรณีควบรวมกิจการฯโดยเฉพาะ เพื่อสรุปให้ได้ภายในวันนั้น ทั้งเงื่อนไข 14 ข้อ เงื่อนไขหลัก รวมถึงข้อกฎหมาย และเงื่อนไขอื่นๆประกอบ ว่าเงื่อนไขมีน้ำหนักพอต่อการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะหรือไม่ หากเพียงพอก็ “อนุญาต” และหากไม่เพียงพอก็ “ไม่อนุญาต” ให้ควบรวมกิจการ ซึ่งสิ่งที่ต้องตอบให้ได้ตอนนี้ก่อน คือ บอร์ดมีอำนาจพิจรณาหรือไม่ และน่าจะมีการถกเถียงลงมติของคณะกรรมการทุกท่านว่าจะให้ความเห็นออกมาอย่างไร หรือให้ความว่ามีอำนาจไหม
ส่วนเรื่องคดีความมองว่ากดดันน้อย แต่จะได้รับแรงกดดันจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันในตลาดมือถือมากกว่า รวมไปถึงแรงกดดันจากคดีอื่นๆที่จะตามมา กล่าวคือ หากทางคณะกรรมการบอก “มีอำนาจ” ฝั่งที่เห็นว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ ก็จะฟ้อง เพราะกระทำการมิชอบ และหากทางคณะกรรมการบอก “ไม่มีอำนาจ” ฝั่งที่เห็นว่า กสทช.มีอำนาจก็จะฟ้องว่าปฎิบัติละเว้นในกรณีนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงคดี จึงเป็นที่มาของการความยืดเยื้อ การศึกษาการควบรวม หรือรายงานให้รอบครอบหลายส่วน และการขอความเห็นทั้งจากกฤษฏีกา และการปกครอง เป็นต้น
ในช่วงบ่ายวันนี้ กลุ่มผู้บริโภคนำ โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคออกแถลงย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยการควบรวมกิจการ TRUE-DTAC โดยเรียกร้องให้ กสทช.ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีมติ แต่กลุ่มผู้บริโภคจะจับตาความเคลื่อนไหวครั้งนี้ นอกจากนี้ จากรายงานผลการศึกษาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศก็มีความชัดเจนว่าการควบรวมครั้งนี้จะทำให้เกิดช่องว่างประชาชนในต่างจังหวัด ที่ผู้ประกอบการ 2 รายเน้นตลาดในเมืองหรือพื้นที่ชุมชนหนาแน่นที่มีกำลังซื้อสูงที่สามารถสร้างกำไรได้สูง โดยเฉพาะ 5G โดยละเลยคนชายขอบ จะทำให้ประเทศล้าหลังกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ทั้งนี้เรียกร้องให้ กสทช.เปิดเผยผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ
ขณะที่ช่วงเช้าวันนี้กลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย กลุ่มพลังรักษ์องค์กร TOT กลุ่มผู้นำแรงงาน บริษัท NT ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และ กรรมการประจำฝ่ายการเมืองสภา กรรมกรแห่งชาติ ทำหนังสือเพื่อติดตามความคืบหน้าคัดค้านควบรวมกิจการระหว่าง TRUEและ DTAC ต่อประธานกรรมการกสทช.
ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายแรงงานฯ ได้ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการควบควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC มาโดยตลอด ซึ่งมีผู้ร้องเรียนและขอให้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระ ฟินันซ่า ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทผู้ยื่นขอความรวมกิจการ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดความเอนเอียงไม่โปรงใสหากคุณสมบัติของที่ปรึกษาไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถือว่าเป็นกระบวนการยื่นรายการงานการขอควบรวมธุรกิจเป็น “โมฆะ” หรือไม่ อีกทั้งกระบวนการคัดเลือกที่ปรึกษาต่างประเทศมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร
ดังนั้น กลุ่มเครือข่ายแรงงานฯ จึงได้มีหนังสือมายังท่านอีกครั้งเพื่อโปรดพิจารณาให้ชี้แจงต่อสาธารณะ และพิจารณาการ ควบรวมธุรกิจอย่างรอบคอบ โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ รวมทั้งความอยู่รอดของ NT ซึ่งเป็น หน่วยงานของรัฐเช่นเดียวกับ กสทช. และ กลุ่มเครือข่ายแรงงานฯ จะดำเนินการคัดค้านควบรวมกิจการบริษัททั้ง 2 ดังกล่าวให้ถึงที่สุด พร้อมทั้งกลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ NT(พลังคนรักองค์กร) อยากให้คณะกรรมการ กสทช.ไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ TRUE และ DTAC
ส่วนกลุ่มตัวแทนประชาชน ระบุว่า ประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรคลื่นความถี่ของชาติได้มีฉันทามติ “ไม่อนุญาต ให้ควบรวมระหว่าง TRUE และ DTAC และขอให้ กสทช. ทำตามเจตนารมณ์ของประชาชน ทำตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้ คณะกรรมการชุดนี้รักษา “ผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน” ตาม มาตรา 60 พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2560 และประกาศปี 2549 ที่ให้คณะกรรมการชุดนี้ ห้ามการควบรวมของธุรกิจประเภทเดียวกัน ที่นำไปสู่การผูกขาด หรือการลด การแข่งขัน อันจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์
“การลงมติตัดสินใดๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน แม้จะอ้างการพัฒนาทางเทคโนโลยี จะกระทำมิได้หาก สาธารณะไม่ยินยอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการลงมตินั้นๆ จะมีส่วนสร้างประโยชน์ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการบนภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่สูงขึ้น ในขณะที่ทางเลือกถูกลดทอนลง”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 65)
Tags: DTAC, TRUE, กสทช., ดีแทค, ทรู คอร์ปอเรชั่น, โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น, ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล