ดัชนีหอการค้าฯ ก.ย.เพิ่มทุกภาค เอกชนมองศก.เริ่มฟื้น จี้รัฐดูแลดอกเบี้ย-ค่าเงิน

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนก.ย. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 26-30 ก.ย. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 42.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 40.0 ในเดือนส.ค. 65

ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 41.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 39.0
  • ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 43.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 41.1
  • ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 46.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 43.5
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 42.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 40.0
  • ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 42.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 39.7
  • ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 40.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ 38.0

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.ย. 65 มีดังนี้

  • ปัจจัยบวก ได้แก่
  1. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass พร้อมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ ตลอดจนมาตรการการใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นโดยความสมัครใจ เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ
  2. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน เช่น คนละครึ่งเฟส 5 และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5
  3. การส่งออกของไทยเดือน ส.ค. 65 ขยายตัว 7.54% มูลค่าอยู่ที่ 23,632.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัว 21.25% มีมูลค่าอยู่ที่ 27,848.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 4,215.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  4. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 (E10) ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 3.80 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 34.94 บาทต่อลิตร
  5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น
  • ปัจจัยลบ ได้แก่
  1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.75% เป็น 1.00% ต่อปี
  2. ความกังวลของภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
  3. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่
  4. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงจีนกับไต้หวันที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
  5. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
  6. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 35.879 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 65 เป็น 37.044 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 65

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนี้

  • มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด
  • การดูแลสถานการณ์ด้านอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูง เพราะจะเป็นผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม เสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้สินค้าเกษตรมีตลาดใหม่ๆ
  • การส่งเสริมสินเชื่อสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงมาตรการต่างๆ เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจยังคงเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
  • มาตรการดูแลต้นทุนของปัจจัยการผลิตของธุรกิจไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง
  • รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ให้เอื้อต่อภาคการค้าทั้งนำเข้า-ส่งออก
  • การดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทั้งจากไวรัสโควิด-19 และฝีดาษลิงที่จะส่งผลเสียต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันของประชาชน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากผลสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจมีมุมมองว่าเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศเดือนก.ย. ฟื้นตัวแล้ว โดยเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคเริ่มรับรู้ได้ถึงการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมุมมองในอนาคตระยะ 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การสำรวจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากการค้า การบริโภค ตลอดจนการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ภาคธุรกิจยังมีความกังวลและขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยเกรงว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นเร็วและแรงตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก เพราะเริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในหลายธนาคารแล้ว ซึ่งภาคเอกชนมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงินของธุรกิจให้สูงขึ้น ท่ามกลางภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ทั้งจากราคาน้ำมัน และค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังขอให้ช่วยดูแลเสถียรภาพของค่าเงินไม่ให้มีการผันผวนเร็วจนเกินไปด้วย

“ภาคเอกชน กลัวว่าหากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นสูงเร็วไป จะมีผลต่อธุรกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ท่ามกลางต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากทั้งราคาน้ำมัน ค่าจ้างแรงงาน…ภาคเอกชนมองว่าเงินบาทควรจะมีเสถียรภาพ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการ Quote ราคาสินค้า” นายธนวรรธน์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top