ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.65 อยู่ที่ระดับ 44.6 จากเดือนส.ค. ซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.7 โดยดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 38.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 41.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.3
สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีฯ ในเดือนก.ย. ได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19, ครม.เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.65, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิก Thailand Pass ส่งผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยว ตลอดจนภาคธุรกิจและภาคบริการต่างๆ รวมทั้งการปรับลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย ลงมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, การส่งออกเดือนส.ค. ขยายตัว 7.54% และราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% และปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 เหลือ 3.8% จากเดิมคาดโต 4.2%, ความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันโลกให้ปรับตัวสูงขึ้น, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า และความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่วประเทศ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนก.ย. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นและมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ
อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ค่อนข้างมาก แสดงถึงมุมมองที่ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจาก 2 ปัจจัยหลักสำคัญที่เข้ามากระทบ คือ สถานการณ์การเมืองในช่วงเดือนก.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาลฎีกา เรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี รวมทั้งปัจจัยเรื่องภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่
ทั้งนี้ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ท่ามกลางความกังวลที่ยังมีอยู่ในเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดย ม.หอการค้าไทย คาดว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ในระดับ 3.3-3.5% ซึ่งถือว่าอยู่ในขอบบนของกรอบประมาณการเดิมที่คาดไว้ 3.0-3.5%
นายธนวรรธน์ ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบราว 12,000-20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินไว้ที่ 5,000 – 10,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างมาก และเข้าในพื้นที่อุตสาหกรรม และท่องเที่ยวที่มีผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าในช่วงแรก
“เราประเมินผลกระทบจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเป็น 12,000-20,000 ล้านบาท ค่ากลางที่ 16,000 ล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ 5,000-10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ประเมินในช่วงแรก เพราะตอนนี้น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งพื้นที่ท่องเที่ยว กระทบต่อการขนส่ง การกระจายสินค้า แต่ปัญหาน้ำท่วมเชื่อว่าจะไม่กระทบภาพรวมการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เรายังคาดว่าปีนี้จะโตได้ในกรอบเดิม คือ 3.0-3.5%” นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับความจำเป็นในการใช้มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนั้น นายธนวรรธน์ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่การฟื้นตัวแล้ว แม้จะยังเติบโตได้ไม่โดดเด่นซึ่งต้องรอดูความชัดเจนในไตรมาส 4 จากอานิสงส์ของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว ทำให้ ธปท.จะเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ด้วยการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ดังนั้น รัฐบาลอาจจะมองไม่เห็นความจำเป็นมากนักที่จะต้องใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เนื่องจากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สูง และที่ผ่านมา รัฐบาลก็ใช้งบประมาณไปกับการทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพจากผลกระทบทางเศรษฐกิจไปค่อนข้างมากแล้ว แต่หากรัฐบาลเห็นว่ายังมีงบประมาณเพียงพอ ก็สามารถทำมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปีได้ เพื่อให้เกิดโมเมนตัมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปได้จนถึงไตรมาสแรกของปี 66 ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 65)
Tags: ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค, เศรษฐกิจไทย