สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนก.ย.65 อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.5 ในเดือนส.ค. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ องค์ประกอบดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคในประเทศมีทิศทางดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการภาครัฐ เช่น โครงการ คนละครึ่ง เฟส 5 มาตรการดูแลราคาพลังงาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อคมนาคมและขนส่งสินค้า ด้านการส่งออกอุปสงค์ในตลาดโลกเริ่มชะลอลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน ยุโรป ตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อที่มีผลกระทบจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ขณะที่จีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero Covid อย่างต่อเนื่องทำให้ปัญหา Supply Shortage ยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตทั่วโลก
สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.5 ในเดือนส.ค. ทั้งนี้ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศจะมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ เป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งอาจกระทบการส่งออก และเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1.มาตรการบรรเทาผลกระทบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ อาทิ การดูแลราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนเร่งแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและการขาดแคลนวัตถุดิบ
2.มาตรการดูแลและเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย อาทิ โครงการพักชำระหนี้กับสถาบันทางการเงินต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม
3.ดูแลค่าเงินบาทให้มีความสมดุลมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก
4.ออกมาตรการรณรงค์ประหยัดการใช้ไฟฟ้าและพลังงาน อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
5.เร่งยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (Competitiveness) เช่น การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Guillotine) การปรับปรุงขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตของราชการ การนำระบบ Digital มาใช้ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีเกินคาด จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาราว 6 ล้านคน แต่ขณะนี้ยอดเกิน 6 ล้านคนไปแล้ว ทำให้คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มเป็น 9-9.5 ล้านคน หรือช่วงเวลาที่เหลืออีกสามเดือนเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน แต่อยากให้การฟื้นตัวด้านท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้นไปมากกว่านี้เป็นเฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านคน
สำหรับกรณีเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ส่งผลให้การส่งออกในบางอุตสาหกรรมชะลอตัวลงไปแล้วราว 30% อย่างไรก็ตาม ภาวะการส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8-9% ส่วนในปี 66 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวลดลงเหลือ 4% เนื่องจากฐานในปีนี้สูงและมีหลายปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ด้านปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ตกต่ำลงไปจากปีก่อนนั้นจะต้องเร่งพัฒนา เช่น การปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งมีผลศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า การยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคราว 1 พันฉบับจะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลราว 1.3 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8% ของจีดีพี
นายเกรียงไกร กล่าวถึงกรณีนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนมีแนวโน้มที่จะได้รับเลือกเป็นผู้นำต่อในวาระที่ 3 น่าจะเป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว แต่ยังต้องจับตาดูผลกระทบจากนโยบายจีนเดียว เช่น การออกมาตรการปิดกั้นการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวันที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ 63% ของทั้งโลก
ขณะที่นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจัยลบที่ผู้ประกอบการมีความกังวลหลายเรื่องเริ่มคลี่คลาย ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ที่คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในอีก 3 เดือน, สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล, สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากอ่อนค่าไปมาก หากเงินบาทอ่อนค่าไปมากจะยิ่งส่งผลให้ภาวะการค้าต่างประเทศขาดดุล เพราะต้องนำเข้าสินค้าทุนและพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งต้องเร่งออกมาตรการประหยัดพลังงานเพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ถึงแม้ปีนี้จะมีพื้นที่ประสบอุทกภัยราว 5 ล้านไร่ น้อยกว่าปี 54 ที่มีพื้นที่ประสบภัยกว่า 19 ล้านไร่ แต่เป็นภาพที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งในระยะต่อไปควรมีการจัดทำแผนป้องกันอุทกภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ต.ค. 65)
Tags: การส่งออก, ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม, ท่องเที่ยว, ส.อ.ท., เศรษฐกิจไทย