นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลีนิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า อาการของโรคโควิด-19 เปลี่ยนไปจากเดิม โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ลักษณะอาการของโรคได้มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
1. จากการศึกษาในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตากับสายพันธุ์โอมิครอน ในระยะหลังนี้ระยะฟักตัวของโรคสั้นลงมาอยู่ที่ประมาณ 3 วัน
2. ตั้งแต่ช่วงแรกที่สายพันธุ์อู่ฮั่นระบาด เมื่อมีการฉายภาพรังสีที่ปอดจะสามารถพบฝ้าได้บ่อย หรือมีอัตราการลงปอดมาก ทำให้เกิดปอดบวม แต่ในปัจจุบันการลงปอดลดน้อยลง หรือความรุนแรงของโรคน้อยลง
3. เดิมอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รส พบได้บ่อยมาก แต่ปัจจุบันอาการดังกล่าวพบได้น้อยมาก
4. เดิมพบอาการไข้ได้บ่อย จึงมีการใช้หลักการตรวจอุณหภูมิ ตรวจคัดกรองในสถานที่ต่างๆ แต่ปัจจุบันไม่สามารถใช้ได้ เพราะอาการไข้จะเป็นอยู่ 1-2 วัน และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวแต่ไม่มีไข้
5. อาการสำคัญขณะนี้ คือเจ็บคอมาก เหมือนมีอะไรบาด และมีอาการไอ ซึ่งเป็นอาการสำคัญของการอักเสบในลำคอ
6. การติดต่อหรือแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นได้ง่าย และเป็นการติดทั้งครอบครัว ในช่วงแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ แต่ในระยะหลัง เด็กจะมีอาการน้อยและสามารถกระจายโรคได้มากกว่า
7. การระบาดของโรคมีแนวโน้มไปตามฤดูกาลแบบไข้หวัดใหญ่ ในซีกโลกเหนือ เช่นยุโรปและอเมริกา จะมีการระบาดมากตั้งแต่เดือนพ.ย.-มี.ค. ซึ่งเป็นฤดูหนาว ขณะที่ประเทศซีกโลกใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะมีการระบาดมากในฤดูหนาวเช่นกัน ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ย.
สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน ไม่มีฤดูหนาวที่แน่ชัด สามารถพบการระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่การระบาดส่วนมากจะเกิดในหน้าฝน ช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย. เช่นเดียวกับซีกโลกใต้ และจะเกิดการระบาดอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่มากนักในเดือนม.ค.-มี.ค. ซึ่งต่างกับตอนแรกของการระบาดของโควิด-19 ที่ไม่เป็นฤดูกาล
8. ไวรัสโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ทำให้แนวโน้มในอนาคตเมื่อติดเชื้อจะสามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก แต่อาการของโรคมีแนวโน้มลดลง ความสำคัญจึงอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์)
ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้จะต้องตรงกับสายพันธุ์ที่คาดว่าจะเกิดมีการระบาด เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ และจะต้องให้วัคซีนก่อนที่จะมีการระบาด เช่นในเดือนเม.ย.-พ.ค. โดยกลุ่มที่ควรรับวัคซีนมากที่สุด คือ 608 และเด็กเล็ก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยง ภู่วรวรรณ, โควิด-19