Decrypto: ย้อนรอย MT.GOX ต้นเหตุวิกฤติราคาสินทรัพย์ดิจิทัล (อีกครั้ง)

วิกฤติ (ราคา) สินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลกครั้งแรก ๆ ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก คือ กรณี Mt. Gox ซึ่งเคยเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงระยะเวลาก่อนวิกฤตินั้น ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลกว่า 70% ทั่วโลกทำขึ้นผ่าน Mt. Gox แต่ Mt. Gox ต้องประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น การถูกแฮ็ก (Hack) และการถูกฟ้องคดีซึ่งมีทุนทรัพย์กว่า 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดปัญหาทางการเงิน ทำให้ลูกค้าไม่สามารถขอถอนเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลได้ และ Mt. Gox ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการในที่สุด ทำให้ต้องจัดทำแผนการปรับโครงสร้างหนี้และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการรวมถึงการขายทรัพย์สินเพื่อนำมาชำระหนี้ (Liquidation) และต้องชี้แจงจำนวนสินทรัพย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนบิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ยังเหลืออยู่ในขณะนั้น

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2014 Mt. Gox ได้ประกาศแจ้งจำนวนสินทรัพย์ที่คงเหลือต่าง ๆ เช่น ที่เคยรายงานว่ามี Bitcoin สูญหายจำนวนกว่า 850,000 เหรียญนั้น แท้จริงแล้วสูญหายเพียง 650,000 เหรียญ เพราะพบ Bitcoin หลงเหลืออยู่ใน Wallet เดิมที่ Mt. Gox เคยเข้าใจว่าไม่มีหลงเหลืออยู่เลยนั้นอีกกว่า 200,000 เหรียญ

ทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกบริหารจัดการโดย Trustee เพื่อชดใช้หรือคืนให้แก่ลูกค้า เช่น ระหว่างเดือนธันวาคม 2017-กุมภาพันธ์ 2018 ได้มีการขาย Bitcoin และ Bitcoin Cash ออกไปจำนวนหนึ่ง โดยมีวิธีการขายหรือจำหน่ายที่ไม่กระทบต่อราคาตลาด กล่าวคือ Trustee จะทยอยขายสินทรัพย์ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามราคาตลาดที่สูงที่สุดและเป็นธรรมเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ช่วงเวลาในการโอนจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่การขายได้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ Trustee ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการขายและรายละเอียดอื่น ๆ ด้วยเหตุว่าอาจจะก่อให้เกิดอุปสรรคในการจำหน่ายสินทรัพย์ในอนาคต ซึ่งจะเห็นว่าวิธีการภายใต้การกำกับควบคุมของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อราคาตลาด (เท่าที่สาธารณะทราบ)

แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2022 ตามแผนฟื้นฟูกิจการ Mt. Gox ได้ประกาศให้ลูกค้าลงทะเบียนเพื่อรับคืนและเลือกวิธีการชำระคืนสินทรัพย์ ซึ่งมี Bitcoin จำนวนกว่า 137,000 เหรียญที่ถูกเตรียมเพื่อการดังกล่าว กล่าวคือ Bitcoin จำนวนดังกล่าวจะเข้าสู่ตลาดทันทีเมื่อกระบวนการคืนสินทรัพย์เสร็จสิ้น โดยอาจไม่ได้ถูกควบคุมหรือมีกระบวนการใด ๆ ที่จะป้องกันผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาของ Bitcoin ทั่วโลก ซึ่งต่างจากการขายหรือจำหน่ายของ Trustee ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่ามีกระบวนการหรือวิธีการขายที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อตลาดโดยรวมน้อยที่สุด โดยนักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่าการคืนและปล่อยให้Bitcoin กว่า 130,700 เหรียญ มาในตลาดในคราวเดียวอาจทำให้ราคาของ Bitcoin ดิ่งลงไปที่ราคา 10,000 ดอลลาร์ในทันที

ดังนั้น นักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลควรจับตามองแผนการดำเนินการหรือแนวทางในการดำเนินการของ Trustee ว่าจะมีการดำเนินการคืน Bitcoin ในรูปแบบใดและช่วงเวลาใด ซึ่งถ้าหาก Trustee ผู้รับผิดชอบไม่มีกระบวนการหรือวิธีการบริหารจัดการที่ดีแล้วนั้น วิกฤติด้านราคาของ Bitcoin รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ครั้งใหม่ (จากคนเดิม) ก็อาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ

ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ต.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top