รัฐบาล จ่ายเยียวยาเหยื่อกราดยิงศูนย์เด็กเล็กหนองบัวลำภูแล้วกว่า 13 ลบ.

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.หนองบัวลำภู โดยเฉพาะผู้เสียชีวิตรวมผู้ก่อเหตุ (37 ราย) และผู้บาดเจ็บ (10 ราย) ซึ่งล่าสุด 3 หน่วยงานของรัฐบาลได้เร่งให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยจ่ายเงินช่วยเหลือทายาทผู้เสียชีวิตแล้วรวม 13,185,555 บาท ดังนี้

1.คณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตกรณีเหตุดังกล่าวในเบื้องต้น เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น เฉพาะผู้เสียหาย ไม่รวมถึงผู้ก่อเหตุและบุคคลในครอบครัวซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ดังนี้ 1) กรณีเสียชีวิต (ค่าจัดการศพและเงินทุนเลี้ยงชีพ) รายละ 200,000 บาท 2) กรณีบาดเจ็บสาหัส รายละ 100,000 บาท 3) กรณีบาดเจ็บไม่สาหัส รายละ 50,000 บาท 4) กรณีทุพพลภาพ รายละ 200,000 บาท

ทั้งนี้ การช่วยเหลือจำนวนดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ จะได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมเพิ่มเติมต่อไป โดยล่าสุดวันนี้ (7 ต.ค. 65) กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยฯ ได้โอนเงินช่วยเหลือเป็นค่าจัดการศพและเงินทุนเลี้ยงชีพให้กับทายาทผู้เสียชีวิตจำนวน 34 รายๆ ละ 2 แสนบาท รวมเป็นเงิน 6,800,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงผู้ก่อเหตุและบุคคลในครอบครัวซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

2.กระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายอันเนื่องมาจากเหตุการณ์นี้ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 โดยกรณีการเสียชีวิตจำนวน 36 ราย (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ) ทายาทมีสิทธิได้รับเงินดังนี้ (1) ค่าตอบแทนกรณีถึงแก่ความตาย จำนวน 50,000 บาท (2) ค่าจัดการศพ 20,000 บาท (3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 110,000 บาทต่อราย โดยมีผู้มีสิทธิได้รับเงิน 36 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,960,000 บาท

กรณีบาดเจ็บจำนวน 10 ราย มีสิทธิได้รับเงินดังนี้ (1) ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ตามใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล (2) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท (3) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถ ประกอบการงาน ได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดที่ไม่สามารถประกอบการงาน ไม่เกิน 1 ปี วันละ 315 บาทในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู (4) ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ไม่เกิน 50,000 บาท

3.การช่วยเหลือในส่วนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรณีผู้เสียชีวิต 37 ราย (เด็ก 24 ราย ผู้ใหญ่ 13 ราย) ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิต 13 ราย เป็นผู้ประกันตน 2 ราย ได้รับการช่วยเหลือค่าทำศพ+ค่าทดแทนกรณีตาย 120 เดือน และเงินบำเหน็จชราภาพ โดยรายที่ 1 เป็นเงิน 1,163,786 บาท และรายที่ 2 เป็นเงิน 1,134,245 บาท รวมเป็นเงิน 2,298,031 บาท

ส่วนรายที่ 3-7 เคยเป็นผู้ประกันตน รายที่ 3 มีสถานะลาออกตั้งแต่ปี 2547 มีเงินสมทบชราภาพ 2 งวด 199 บาท, รายที่ 4 สถานะลาออกตั้งแต่ 1 พ.ค.62 มีเงินสมทบชราภาพ 147 งวด 64,083 บาท (ไม่รวมดอกผล) , รายที่ 5 มีเงินสมทบชราภาพ 32,166 บาท (ไม่รวมดอกผล) , รายที่ 6 สถานะลาออกตั้งแต่ 28 ก.พ.62 มีเงินสมทบชราภาพ 34 งวด 25,277 บาท (ไม่รวมดอกผล) และ รายที่ 7 มีเงินสมทบชราภาพ 5,799 บาท ส่วนลำดับที่ 8-13 ไม่เคยเป็นผู้ประกันตน

โดยสรุป สปส.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับทายาทผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้ประกันตนและเคยเป็นผู้ประกันตนรวมเป็นเงิน 2,425,555 บาท

“เนื่องจากมีผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแล เยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ ทั้งนี้ ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จะพิจารณาดูแลเยียวยาผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขณะปฏิบัติงานในสถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นกรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน ให้ได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทน นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ตั้งศูนย์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัย เพื่อเร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประสบเหตุ จ.หนองบัวลำภู ด้วย” นายอนุชา กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top