เพื่อไทย วอน กกต.ทบทวนปรับกฎเหล็ก 180 วัน หลังเป็นอุปสรรคช่วยน้ำท่วม

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณากำหนดเงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ ปรับปรุงระเบียบให้พรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้แทนของปวงชนสามารถเข้าไปช่วยเหลืองประชาชนที่ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ แม้จะอยู่ในช่วงระยะของ 180 วัน ก่อนวันครบอายุสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย และเป็นระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงก็ตาม เพื่อไม่ให้ระเบียบหรือข้อห้ามต่างๆ เป็นอุปสรรคในการจำกัดหรือทำให้การช่วยเหลือประชาชนซึ่งกำลังเดือดร้อนอย่างสาหัสอยู่ในขณะนี้

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หากเปิดสมัยประชุมสภาฯ พรรคเพื่อไทยจะเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ในมาตราที่เกี่ยวกับการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น มาตรา 64, 65 และ 68 ต่อไป

พร้อมกันนี้ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ให้บริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมแบบสถานการณ์พิเศษ ไม่ใช่สถานการณ์โดยปกติทั่วไป โดยจะต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึงและทันท่วงที มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า และมาตรการเยียวยาในระยะต่อไปอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์จากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 โดยได้กำหนดมาตรการไว้อย่างมีแบบแผน เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พบว่ามีปัญหาใน 7 เรื่อง คือ

  1. การเตือนภัย ให้กับพี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เพราะคาดไม่ถึงว่าน้ำท่วมจะรุนแรงจนรับมือไม่ได้ โดยจากระบบการเตือนภัยของรัฐบาลที่ขาดการใส่ใจจากหลายฝ่าย การออกคำเตือนล่าช้า มาตรการไม่มีความพร้อม
  2. ในสถานการณ์น้ำท่วมปี 2554 รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้วางแผนเตรียมการไว้ โดยประเมินการรับมือในระดับเลวร้ายที่สุด เพื่อเตรียมมาตรการรองรับเอาไว้ ซึ่งหากไม่เกิดขึ้นก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเตรียมการ
  3. รัฐบาลต้องบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ภาวะเสี่ยง เพื่อบริหารประเทศในขณะนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ
  4. วางระบบในการบริหารจัดการ โดยหน่วยดูแลบัญชาการ ปฏิบัติการชัดเจน ครอบคลุมระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างชัดเจน
  5. การบริหารสถานการณ์น้ำท่วมต้องไม่นำระเบียบเดียวกัน มาบังคับเหมือนกันทั่วประเทศ แต่ต้องพิจารณาเป็นรายพื้นที่ เช่น พื้นที่น้ำท่วมถาวร พื้นที่น้ำท่วมทุกปี พื้นที่น้ำท่วมขังนาน เป็นต้น โดยแต่ละพื้นที่ต้องมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน โดยการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจนว่าจะกำหนดมาตรการอย่างไรโดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน
  6. ต้องให้ความสำคัญกับภาคท้องถิ่น ซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดเข้ามาแก้ปัญหา รวมทั้งภาคส่วนเอกชน อาสาสมัครต่างๆ
  7. แผนบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่แม้ถูกตีตกไป ถือว่าเป็นกรรมของประเทศมาถึงปัจจุบัน ที่ไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งนำแผนไปดำเนินการ และหากพรรคเพื่อไทยมีโอกาสในการบริหารประเทศ พรรคฯ ก็จะดำเนินการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top