นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในงานสัมนาหัวข้อเศรษฐกิจไทย..ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้และปี 66 ยังเผชิญกับความท้าทายค่อนข้างมาก โดยสิ่งที่ต้องติดตาม คือ การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ของสหรัฐฯ ซึ่งยอมรับว่าหากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบมาถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และปัจจุบันเริ่มเห็นผลกระทบแล้ว โดยเฉพาะในภาคการส่งออกของไทยที่เริ่มเห็นตัวเลขแผ่วลงมาต่อเนื่องกันมา 3 เดือน
ขณะเดียวกัน ยังมีความเสี่ยงจากการบริโภคในประเทศที่ยังเห็นการชะลอตัวมาต่อเนื่อง จากการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และปี 66 จะยังมีความท้าทายอยู่มาก มีเพียงแค่ภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวที่จะช่วยพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น และจะเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในปี 66 ซึ่งเป็นภาคเดียวที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้มากที่สุด
“วิกฤติที่เกิดขึ้นในโลก และจะกระทบเราแน่ๆ และผลกระทบเริ่มมาถึงแล้ว หากดูตัวเลขของแบงก์ชาติ พบว่าการส่งออกที่เป็นมูลค่าหักฤดูกาลลดลงมาต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกับการบริโภคของคนไทย พบว่าเริ่มทรงตัวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนจากการจับจ่ายใช้สอยที่ชะลอลง ดังนั้นจึงมองว่า จากความท้าทายเพิ่มขึ้นเยอะ มีโอกาสมากที่เราจะข้ามไม่พ้นเหว” นายกอบศักดิ์ กล่าว
สำหรับปีหน้าเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะฟื้นตัวได้ดี โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ วิกฤติในตลาดเกิดใหม่ปัญหาเรื่องการแข่งขัน โดยไทยจะต้องสร้างเงินสำรองให้เพียงพอ เพื่อรองรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในกลางปีหน้า ดูแลเรื่องท่องเที่ยวให้มากขึ้น
ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจไทย คือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เป็นเพราะประเทศไทยซื้อสินค้ามากกว่าขายสินค้า และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจไทยอาจจะมีปัญหาได้ ส่วนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มถดถอย เชื่อว่าประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่พ้นเช่นกัน เหมือนกับทุกประเทศที่จะเจอผลกระทบตามมากันหมด
โดยภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ มองว่าจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2/66 ซึ่งจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศต่างๆ ตามมาในช่วงกลางปีหน้าที่มีผลชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในช่วงเศรษฐกิจเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวกลับมา ทำให้การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของเศรษฐกิจไทยยังคงไม่เห็นการเติบโตได้อย่างเต็มที่ในปี 66 โดยอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปี หรือภายในปี 68 กว่าจะเห็นภาพของเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้เต็มที่
สำหรับด้านนโยบายการเงินของประเทศ แม้ว่าปัจจุบันจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% แต่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังค่อนข้างมีส่วนต่างที่มาก ซึ่งมองว่าหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการขยับส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยให้แคบลง จะสามารถช่วยดึงดูดเม็ดเงินให้เข้ามาลงทุนได้ จากปัจจุบันที่เงินทุนจากต่างชาติไหลออกไปค่อนข้างมาก ซึ่งจังหวะที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ถือเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่จะสามารถดึงดูดเมึดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาได้
ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง ด้านการส่งออกเริ่มแผ่วลงชัดเจน เพราะมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก สำหรับในการประมาณการเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไม่ได้ว่ามองเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากสหรัฐฯ ยังมีพื้นที่การคลังเพียงพอ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ รับมือกับเงินเฟ้อไม่ไหว และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบกระชาก รวมถึงเศรษฐกิจชะลอตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส สำหรับกรณีประเทศไทย คาดว่าจะรับมือกับเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับสูงได้ และคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 66
สำหรับในการประมาณการของธนาคารโลก คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 3.1% ส่วนปี 66 ขยายตัวได้ 4.3% และปี 67 ขยายตัวได้ 3.9% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมองว่าจะกลับไปสู่ระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยเดิมที่ 2% ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปี 68 เป็นต้นไป หลังจากที่ไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มที่ และคลายกฎเกณฑ์ต่างๆลง รวมถึงการเดินหน้าโปรโมทการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยกลับมา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 65)
Tags: lifestyle, กอบศักดิ์ ภูตระกูล, เศรษฐกิจไทย