เงินเฟ้อโตเกียวเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องแตะ 2.8% เพิ่มแรงกดดันต่อแบงก์ชาติญี่ปุ่น

อัตราเงินเฟ้อในกรุงโตเกียวเร่งตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนก.ย. โดยเป็นการปรับตัวขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2535 เมื่อไม่รวมผลกระทบของการปรับขึ้นภาษี ซึ่งเพิ่มความท้าทายต่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการชี้แจงถึงเหตุผลที่ยังคงเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นแบบต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (4 ต.ค.) ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหารสด ในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นแตะ 2.8% ในเดือนก.ย. หลังปรับตัวขึ้นแตะ 2.6% ในเดือนส.ค. โดยสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ปัจจัยที่ทำให้ ดัชนี CPI พื้นฐานของกรุงโตเกียวปรับตัวขึ้นนั้น หลัก ๆ แล้วมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารแปรรูปและสินค้าคงทน โดยราคาอาหารแปรรูปพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 41 ปี ขณะที่ ราคาพลังงานส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนส.ค.

ตัวเลข CPI พื้นฐานของกรุงโตเกียวถือเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญสำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศ โดยเงินเฟ้อทั่วประเทศอาจพุ่งแตะ 3% ในเดือนก.ย. หากเคลื่อนไหวในลักษณะคล้ายคลึงกันกับเงินเฟ้อของกรุงโตเกียว

รายงานระบุว่า BOJ ไม่น่าจะคุมเข้มนโยบายการเงินในการประชุมเดือนนี้ แม้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ได้กล่าวย้ำหลายต่อหลายครั้งว่า จะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากมองว่าเงินเฟ้อที่ได้รับแรงหนุนจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นในปัจจุบันนั้น จะปรับตัวลดลงในที่สุด หากค่าจ้างไม่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และ BOJ ต้องเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยนายคุโรดะนั้นมีกำหนดหมดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำ BOJ ในเดือนเม.ย.ปีหน้า

อย่างไรก็ดี ดัชนี CPI พื้นฐานเดือนก.ย.ของกรุงโตเกียวเคลื่อนไหวเหนือกรอบเป้าหมาย 2% ของ BOJ ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยในขณะที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจนใกล้แตะ 3% นายคุโรดะจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น ในการอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้เขาคิดว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นนี้เป็นเพียงภาวะชั่วคราวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ ราคาพลังงานไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top