นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพด้านสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.มีความเป็นห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่กว่า 80% ของจีดีพี จากช่วงก่อนโควิดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 50% ของจีดีพี ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของ ธปท. พบว่า สัดส่วนหนี้ดังกล่าว 35% เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต ไม่ใช่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต ซึ่งได้วางแนวทางการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ไว้ 3 แนวทาง คือ 1.การแก้ไขหนี้ในปัจจุบัน หรือการลดหนี้ 2.การปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพ และ 3.การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน
ทั้งนี้ ภายในไตรมาส 1/66 ธปท.เตรียมออกประกาศ หรือหนังสือเวียน ถึงสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เพื่อเป็นแนวทางการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรเครดิต ที่เป็นลักษณะการโฆษณาผ่านแคมเปญต่างๆ หรือ เรียกว่า โฆษณาเพื่อกระตุกพฤติกรรมการใช้จ่าย สำหรับสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เชื่อว่า จะส่งผลดีในระยะยาว และลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นของภาคครัวเรือนลงด้วย
“ธปท.จะเข้าไปดูการก่อหนี้ใหม่ จะปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพอย่างไร สถาบันการเงินต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกหนี้ ซึ่งมีหลายมิติ และต้องไม่กระตุกพฤติกรรม ให้ก่อหนี้ล้นพ้นตัว ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สถาบันการเงินต้องตระหนักกับการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โฆษณาแคมเปญต่าง ๆ สินเชื่อที่ไม่ก่อประโยชน์กับลูกหนี้” นายรณดล กล่าว
นอกจากนี้ ในปี 66 ธปท.จะกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ ซึ่งจะไม่พิจารณาเฉพาะความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้เท่านั้น แต่จะพิจารณาด้วยว่าเมื่อชำระหนี้แล้ว ยังมีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพหรือไม่ โดยจะพิจารณาระดับรายได้สุทธิของลูกหนี้ที่เหมาะสมประกอบกันไปด้วย
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวที่จะออกมา จะต้องไม่เป็นปัญหาในการก่อหนี้ในระยะยาว หรือมีแคมเปญที่สนับสนุนให้ก่อหนี้จนขาดคุณภาพ โดยเฉพาะคำชี้ชวนในก่อหนี้ ประเภท “ของมันต้องมี” ซึ่งจากที่ตรวจสอบมีแคมเปญโฆษณาต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นนอนแบงก์ เช่น ให้กู้เพื่อไปท่องเที่ยวเมืองนอก กู้เพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนม กู้เพื่อผ่อนชำระมือถือ
“เช่น ให้กู้เพื่อผ่อนไอโฟน 14 ในระยะเวลานานๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ห้าม แต่อยู่ที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีการกู้เพื่อของมันต้องมี และปัจจุบันเด็กจบใหม่มีหนี้เร็ว และคนไทยยังมีหนี้นาน ใกล้เกษียณแล้ว ก็ยังมีหนี้” น.ส.สุวรรณี ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 65)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., รณดล นุ่มนนท์, สุวรรณี เจษฎาศักดิ์, หนี้ครัวเรือน, เศรษฐกิจไทย