นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดว่าในปี 2565 นี้ ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อบ้านได้ราว 280,000-300,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 226,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2566 คาดว่าการปล่อยสินเชื่อบ้านจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% จากเป้าหมายในปี 2565 หรือปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 250,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มองว่าตลาดที่อยู่อาศัยในไทยยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว เพราะสังคมไทยมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีการสร้างครอบครัวใหม่ทำให้มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มเติม จึงเชื่อว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารในปีหน้าจะยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
นายฉัตรชัย ยังกล่าวถึงแนวทางในการบริหารจัดการลูกค้าที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ว่า ปัจจุบันยังมีลูกค้าอยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารวงเงินกู้รวมประมาณ 70,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 20,000 ล้านบาทที่เริ่มผ่อนชำระไม่ปกติ แต่จะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ยังมีความตั้งใจผ่อนชำระ แม้จะได้รับผลกระทบ และธนาคารจะยังคงมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้มารองรับ โดยสามารถเลือกผ่อนชำระได้ 25% 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ
กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวต่อว่า ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในขณะนี้ มีหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งสถานการณ์ของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับเข้ามาแข่งขันในตลาดมากขึ้น ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้นตามการปรับเพิ่มของต้นทุนการก่อสร้าง และภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
อย่างไรก็ดี จากกำลังซื้อของประชาชนที่แม้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ยังไม่เท่ากับการปรับขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย และอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จึงทำให้ ธอส. ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ธนาคารสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงทำให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย และสามารถรับมือกับปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น
ดังนั้น คณะกรรมการธนาคาร จึงได้มีมติเห็นชอบให้ ธอส. ลงทุนพัฒนาทางด้านระบบเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ด้วยงบประมาณลงทุนไม่เกิน 400 ล้านบาท ภายใต้ระบบที่ชื่อว่า end to end process หรือการให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายผ่านบริการด้านดิจิทัลทั้งหมด ซึ่งช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกและลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคารได้ไปพร้อมกัน โดยมี 3 module หลักประกอบด้วย 1. ด้าน Funding 2. ด้านสินเชื่อ และ 3. ด้านการบริหารจัดการทรัพย์ด้อยคุณภาพ
1. Module ด้าน funding
ปัจจุบัน ธอส. มีการระดมทุนผ่านหลายช่องทาง ทั้งเงินฝากแบบปกติที่มีสมุดบัญชี เงินฝากแบบอิเล็กทรอนิกส์ สลากออมทรัพย์ พันธบัตร อนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่นเดียวกับการจัดทำสลากออมทรัพย์ ธอส. ที่มีความแตกต่างจากสลากของสถาบันการเงินอื่นในตลาด โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 มีการออกสลากออมทรัพย์ชุดใหม่ คือ ชุดวิมานเมฆ PLUS มารองรับการครบกำหนดไถ่ถอนของสลากออมทรัพย์ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท กรอบวงเงินรวม 27,000 ล้านบาท รวมถึงสลากชุดใหม่ประเภทอื่นที่รองรับลูกค้าใหม่ควบคู่กับลูกค้าเดิม
2. Module ด้านสินเชื่อ
ลูกค้าสามารถรู้จัก และเข้าถึง ธอส.ได้ด้วยแอปพลิเคชั่น GHB ALL GEN ซึ่งถือเป็นแอปพลิเคชั่นใหม่ที่ธนาคารได้พัฒนาขึ้นมาด้วยงบลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้งานแทนแอปพลิเคชั่น GHB ALL เดิมที่ปัจจุบันมีลูกค้าสมัครและใช้บริการอยู่มากกว่า 1 ล้านคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้นและรองรับลูกค้าของ ธอส.ได้ทุก Generation
ปัจจุบันการพัฒนาบริการเฟสที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเริ่มเปิดให้พนักงานของธนาคารดาวน์โหลดเพื่อทดสอบใช้งานตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2565 ก่อนที่จะเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดใช้งานเฟสที่ 1 ได้ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2565
“เมื่อ GHB ALL GEN พัฒนาได้สมบูรณ์ทุกบริการแล้ว จะทำให้ลูกค้าเข้าถึง ธอส.ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยสามารถปรึกษากับพนักงานสินเชื่อ Digital LO (Loan Officer) ได้เสมือนเดินทางไปที่สาขา โดยธนาคารจะถ่ายโอนลูกค้าให้ย้าย Application GHB ALL ไปสู่ GHB ALL GEN ให้ได้ทั้งหมดจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งในขณะนั้นบริการต่าง ๆ ใน GHB ALL GEN จะให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ” นายฉัตรชัย ระบุ
ทั้งนี้ การนำ Data Analytic ทางด้านการประเมินราคาที่อยู่อาศัยมาพัฒนาระบบ Digital Appraisal ทำให้ลูกค้าทราบราคาประเมินบ้านเบื้องต้นได้ทันทีในขณะยื่นกู้กับเจ้าหน้าที่ จากเดิมต้องรอให้เจ้าหน้าที่ลงสำรวจที่อยู่อาศัยจริง ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ทราบราคาประเมินอย่างเป็นทางการได้ในระยะเวลา 3-7 วันหลังยื่นเอกสารคำขอกู้ เมื่อเรื่องเข้าสู้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อ ธนาคารจะมีการแจ้งเตือนผลการพิจารณาผ่าน Notification ของ GHB BUDDY บน Line Application
“ถ้าลูกค้ามีเอกสารประกอบการยื่นกู้ให้กับเจ้าหน้าที่ได้ครบถ้วน ไม่มีประวัติการผ่อนชำระสินเชื่ออื่น ๆ ที่ไม่ปกติ คาดว่าลูกค้าจะสามารถทราบผลการพิจารณาได้โดยใช้เวลาเพียง 3 วันทำการ และลูกค้ายังสามารถเซ็นสัญญาเงินกู้แบบอิเล็กทรอนิกส์ แทนการลงนามรูปแบบกระดาษได้ด้วย e-Contract ซึ่งธนาคารจะโอนเงินกู้ค่าซื้อที่อยู่อาศัยเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แทนการจัดทำแคชเชียร์เช็ค ทำให้ผู้ขายไม่ต้องเสียเวลา และลดขั้นตอนนำแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากผู้ซื้อไปขึ้นเงินเหมือนที่ผ่านมา” นายฉัตรชัย ระบุ
โดยหลังจากลูกค้าทำนิติกรรมการโอนและจดจำนองกับกรมที่ดินเรียบร้อยแล้ว ลูกค้าสามารถรับโฉนดที่ดินฉบับจริงกลับบ้านได้ทันที ด้วยโครงการจัดเก็บ Electronic File แทนเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับ (ไม่เก็บโฉนด) โดยธนาคารจะจัดเก็บโฉนดในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทนการจัดเก็บเอกสารฉบับจริง ทำให้ลูกค้าจะได้รับโฉนดฉบับจริงกลับบ้านในวันทำนิติกรรมได้ทันที และเมื่อได้เป็นลูกค้าของ ธอส.แล้ว ก็จะสามารถผ่อนชำระเงินกู้ผ่าน GHB ALL GEN ได้ทันทีโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา
3. Module ด้านการบริหารจัดการทรัพย์ด้อยคุณภาพ
ธนาคารได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น GHB ALL BFRIEND เพื่อให้บริการลูกค้าที่ประสบปัญหาในการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านให้ได้รับทางเลือกและเงื่อนไขการชำระหนี้ที่เหมาะสมกับปัญหา โดยจะให้บริการทั้งในด้านการตรวจสอบข้อมูลบัญชีเงินกู้ อาทิ เงินงวดที่ต้องผ่อนชำระตามเงื่อนไขของมาตรการ, การยื่นคำร้องประนอมหนี้ และยื่นคำร้องฝากขายทรัพย์ โดยเริ่มเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2565
พร้อมกันนี้ ธนาคารยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชั่น GHB ALL HOME ให้มีครบทุกความต้องการ เรื่องบ้านมือสอง ธอส. ที่พัฒนาต่อยอดจากแอปพลิเคชั่น GHBank Smart NPA สามารถให้บริการได้หลากหลายยิ่งขึ้น อาทิ ค้นหารายการทรัพย์ และแสดงรายละเอียดข้อมูลบ้านมือสองของธนาคาร รวมถึงการยื่นคำร้องขอดูสภาพของที่อยู่อาศัยในสถานที่จริง การจองซื้อบ้าน การประมูลออนไลน์ พร้อมเพิ่มบริการชำระเงินมัดจำ เงินดาวน์ รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการซื้อทรัพย์ของธนาคาร อีกทั้งลูกค้าสามารถยื่นคำร้องต่าง ๆ ผ่านแอปนี้ได้อีกด้วย และมีกำหนดเปิดให้ลูกค้าดาวน์โหลดใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2565
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ธอส. ยังได้เริ่มจัดทำโครงการรีโนเวทบ้านมือสองของ ธอส. ก่อนนำออกจำหน่าย ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ของธนาคาร เนื่องจากการนำบ้านเก่ามารีโนเวทกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน เพราะบ้านมือสองมีราคาที่ถูกกว่าบ้านใหม่ และอยู่ในทำเลที่ตั้งเหมาะสม ธอส.จึงคัดเลือกทรัพย์ทำเลดี ที่ตั้งเหมาะสมนำไปรีโนเวททรัพย์ใหม่ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
“การขายบ้านมือสองของธนาคาร ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรจากการขายเป็นหลัก แต่ต้องการลดจำนวนการถือครองบ้านมือสองของธนาคาร เพื่อลดการกันสำรองของธนาคารให้ลดลง” นายฉัตรชัย ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 65)
Tags: ฉัตรชัย ศิริไล, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธอส., สินเชื่อบ้าน