นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลสะเทือนต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมายในการจำกัดอำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาจเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก อาจเกิดความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะสั้นและระยะยาวในระดับหนึ่งแต่ไม่มาก เพราะคนส่วนใหญ่รอคอยการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องปมวาระ 8 ปีมีเหตุมีผลแค่ไหนเป็นสิ่งที่ผู้มีจิตใจเป็นธรรมสามารถพิจารณาได้ว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นกลางหรือไม่ เป็นอิสระหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ โดยไม่เป็นการตัดสินเพื่อให้ผู้อำนาจพึงพอใจ เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถวินิจฉัยได้ เพราะประชาชนมีสติปัญญารู้ว่า 8 ปีนับอย่างไร เรื่องปม 8 ปีนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่กำหนดทิศทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในระยะต่อไป ประเทศชาติต้องดำรงอยู่ได้ด้วยระบบที่ดี ด้วยหลักการที่ถูกต้อง ไม่ควรต้องผูกติดกับผู้ใดผู้หนึ่ง ก้าวให้พ้นเรื่องตัวบุคคล หันมายึดหลักการ ยึดระบบจะดีกว่าสำหรับประเทศและประชาชนในระยะยาว”
นายอนุสรณ์ กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ในเมื่อความเป็นจริง นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้วโดยไม่ต้องอ้างการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีสามารถลาออกได้ด้วยตัวเอง และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ต้องมาจากผู้ที่อยู่ในรายชื่อบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง ไม่ควรเป็นนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อ หรือ นายกรัฐมนตรีคนนอกโดยอาศัยเสียงของวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เพราะผิดหลักการประชาธิปไตย และไม่ได้สะท้อนเสียงหรือความต้องการของประชาชน
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีควรพิจารณาลาออกจากตำแหน่ง เพื่อประโยชน์ของสาธารณชนและประเทศชาติ เนื่องจากในความเป็นจริงได้ดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีแล้ว การปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการปกครองโดยกฎหมายอันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
“เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีอยู่เกิน 8 ปีเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจและนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมือง และความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม ความเป็นจริงเจตนารมณ์นี้ชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องตีความแต่อย่างใด การบังคับใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ กรณีนายกรัฐมนตรีต้องดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี ต้องอยู่บนสปิริตและเจตรมณ์ของระบอบประชาธิปไตย คือ การจำกัดอำนาจผู้ปกครอง”
นายอนุสรณ์ กล่าว
การไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์หรือสปิริตประชาธิปไตย จะนำสู่ความยุ่งยากทางการเมืองเฉพาะหน้าและในระยะยาวได้ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อรักษาหลักการและระบบเอาไว้ และประเทศจะได้เดินหน้าต่อไปได้ด้วยกระบวนการในรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาท ตลาดการเงิน ภาวะการลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวมอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้หากมีความรุนแรงบนท้องถนน ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะเกิดขึ้นโดยฝ่ายใด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ ค่าเงินบาทจะอ่อนลงอีกอย่างต่อเนื่อง ตลาดการเงินจะผันผวนและภาคการลงทุนจะชะลอลง เพื่อรอดูความชัดเจนทางการเมืองและรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ หากไม่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้นมาก่อนการเลือกตั้ง ค่าเงินบาทก็อาจไม่อ่อนลงอย่างรุนแรงนัก แต่ถ้าวิกฤตการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การเลื่อนการเลือกตั้ง หรือวิถีทางนอกกฎหมายหรือการรัฐประหารอีก ประเทศไทยจะอยู่ในวังวนของความด้อยพัฒนาทางประชาธิปไตย และการเสียโอกาสความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไปอีกยาวนาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 65)
Tags: การเมือง, ชุมนุมทางการเมือง, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ศาลรัฐธรรมนูญ, อนุสรณ์ ธรรมใจ