นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 17 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 ประชาชนจะติดตามสถานการณ์ในประเทศได้ยาก เพราะไม่มีรายงานสถานการณ์ประจำวัน ดังนั้น การขวนขวายติดตามสถานการณ์ทั่วโลกจะยิ่งมีความสำคัญมาก เพราะเราเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา
สิ่งที่ต้องระวังสำหรับประเทศไทย คือ หลังต.ค. ต้องระวังผลกระทบจากการประกาศนโยบายติดเชื้อแล้วไม่ได้กักตัว ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะระบาดแพร่กันได้ง่ายมากขึ้นอย่างมาก
นอกจากนี้ สถานพยาบาลหลายแห่ง เริ่มมีนโยบายที่จะไม่ตรวจคัดกรองโรคในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งหากทำเช่นนี้ ก็จะยิ่งทำให้ง่ายต่อการแพร่ระบาดในโรงพยาบาล ติดกันได้ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย รวมถึงญาติที่มาเฝ้าดูแล นำไปสู่ระดับครอบครัว และชุมชนได้
อย่างไรก็ดี เน้นย้ำว่า ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วัน หรือจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ซ้ำแล้วได้ผลลบ จากนั้นจึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน ส่วนในที่ทำงาน ก็ควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน และรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ โรงพยาบาลต่างๆ ควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ด้วยการคงมาตรการตรวจคัดกรองโรคต่อไป ซึ่งความรู้ทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา มีโอกาสทำให้โรคประจำตัวของผู้ป่วยแย่ลง และนำไปสู่การป่วยรุนแรงและเสียชีวิต นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID อีกด้วย
สำหรับสถานการณ์โควิดทั่วโลก วานนี้ทั่วโลกติดเชื้อเพิ่ม 327,227 คน ตายเพิ่ม 831 คน รวมติดเชื้อไปแล้ว 622,152,213 คน เสียชีวิตรวม 6,546,327 คน โดย 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส ไต้หวัน ญี่ปุ่น รัสเซีย และอิตาลี วานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกขณะนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 92.13% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 71.11%
อย่างไรก็ดี ขาขึ้นของยุโรปกำลังมา หลายประเทศในยุโรปมีจำนวนผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศอังกฤษมีอัตราการป่วยจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นราว 48% ที่สำคัญคือ อังกฤษพบสัดส่วนของผู้ป่วยติดเชื้อที่มาจากการติดเชื้อภายในสถานพยาบาลมากขึ้นอย่างมาก
ในขณะที่ประเทศฝั่งยุโรปอื่นอีกหลายประเทศ เช่น เดนมาร์ก เยอรมนี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ก็พบจำนวนป่วยนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นชัดเจนเช่นกัน โดยประเมินว่า เป็นผลจากเสรีการใช้ชีวิตโดยพฤติกรรมป้องกันไม่เคร่งครัด และยังเป็นผลจากสายพันธุ์ BA.5 เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ อาจพบผลของการระบาดมากขึ้นจากสายพันธุ์ย่อยอื่น เช่น BA.2.75.2 และ BQ.1.1 ตามมาได้ในอีก 4-6 สัปดาห์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 65)
Tags: COVID-19, Worldometer, กระทรวงสาธารณสุข, กักตัว, ธีระ วรธนารัตน์, โควิด-19