นายคณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน “BOT Symposium 2022 หัวข้อ “เงิน สัญญา และสเตเบิลคอยน์” ว่า เงินเป็นสิ่งที่คนในสังคมตกลงและกำหนดร่วมกันให้สิ่งนี้มีค่า นับว่าเป็นสัญญาที่คนในสังคมได้กำหนดร่วมกันไว้ ซึ่งเงินสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่
1) เงินนอก (Outside Money) เป็นสัญญาประชาคม (Social Contract) ที่มูลค่าของสิ่งที่กำหนดอาจเปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมได้ เช่น ทองคำ หรือวัตถุต่าง ๆ ที่กำหนดให้มีค่า
2) เงินใน (Inside Money) เป็นสัญญาทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Contract) ที่มูลค่าขึ้นอยู่กับความสามารถและความยินยอมในการชำระหนี้
และสิ่งที่ทุกคนล้วนเคยใช้นั่นก็คือ เงินสด ซึ่งเงินสดถือว่าเป็นสิ่งที่มีความพิเศษทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ 1) เงินสดเป็น Token Money ถ้าถือเป็นเจ้าของแล้ว สามารถนำไปใช้จ่ายได้เลยในทันที ไม่ต้องยืนยันตัวตน 2) เงินสดมีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อของอีกฝ่าย ก็สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้ และ 3) เงินสดสามารถใช้จ่ายได้ทันที ไม่ต้องขออนุญาตใครและไม่ต้องใช้ฐานข้อมูล ซึ่งทั้งหมดถือเป็นประโยชน์ของเงินสดที่สามารถจับต้องได้ในเชิงกายภาพ
ขณะที่เงินดิจิทัลไม่มีสัญญลักษณ์ทางกายภาพดังกล่าว ที่สำคัญเงินดิจิทัลมีอุปสรรคสำคัญอยู่ที่การบันทึกข้อมูล เพราะเป็นไปได้ยากที่จะให้ความไว้วางใจในการบันทึกข้อมูลและการให้ฐานข้อมูลทำงานได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น จะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้บันทึกข้อมูลจะไม่กีดกันการเข้าสู่ระบบ หรือ ผู้บันทึกข้อมูลจะไม่กระทำสิ่งใดโดยพลการ ซึ่งทางผู้ประกอบการในวงการสกุลเงินดิจิทัลก็พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การบันทึกข้อมูลลักษณะบล็อกเชน (Blockchain) ทำให้มีระบบบันทึกและจัดเก็บข้อมูลที่กระจายศูนย์ (Distributed) ได้ และเมื่อไม่มีผู้ใดมีอำนาจผูกขาดในการบันทึกข้อมูล อีกทั้งมีการกระจายอำนาจการบันทึก (Decentralized) ด้วย ก็ทำให้ธุรกรรมมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ความถูกต้องของข้อมูลจึงเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
และแม้ว่าตลาดคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) จะแพร่หลายไปทั่วโลกในขณะนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นตลาดที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายหน่วยข้อมูลนั้นเป็นเงินเหมือนเงินรูปแบบอื่นได้ง่าย จึงไม่เหมาะนำมาใช้เป็นมาตรวัดค่า (Unit of Account) และในปัจจุบันจึงอาจจะยังไม่เหมาะที่จะใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นเงิน
ส่วนการสร้าง Stablecoin มีหลายรูปแบบ เช่น การก่อหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (Collateralized Debt Position: CDP) คล้ายกับการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์แล้วเบิกจ่ายเป็นยอดเงินฝากในบัญชี (เช่น DAI, MIM) หรือการพิมพ์ธนบัตรของรัฐที่ใช้ทุนสำรองเงินตราหนุนหลัง โดยใช้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน Smart Contract ว่า การสร้าง Stablecoin ดอลลาร์หนึ่งหน่วยจะต้องนำสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าหนึ่งดอลลาร์มาแลก และการทำลาย (ขาย) Stablecoin ดอลลาร์หนึ่งหน่วยจะได้รับสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าหนึ่งดอลลาร์กลับมา เป็นที่มาของคำว่า Algorithmic เพราะมีสมการ “รับประกัน” ว่า Stablecoin หนึ่งหน่วย สามารถแลกสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่าหนึ่งดอลลาร์ได้พอดีทุกครั้งไป จึงทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 65)
Tags: BOT Symposium 2022, Cryptocurrency, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, คณิสร์ แสงโชติ, คริปโทเคอร์เรนซี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สินทรัพย์ดิจิทัล