นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างใกล้ชิด
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้น 62.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว 67.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัวต่อเนื่อง 9.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว 10.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้น 0.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้น 61.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง -5.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้น 1.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล 1.5 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 29.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 10.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 23,632.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.5% จากช่วงเดียวกัน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 10.1% โดยสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.6% โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่ขยายตัว 173.5% 125.4% 25.5% และ 18.5% ตามลำดับ 2) สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.2% เช่น เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่งจักรกลและส่วนประกอบที่ขยายตัว 61.1% 32.8% และ 15.6% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ ตะวันออกกลาง อาเซียน 9 อินเดีย และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 38.4% 19.1% 18.0% และ 16.3% ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคม 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.17 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัว 7,677.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง -67.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม ลาว และเกาหลีใต้ ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยในเดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 16.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัว 1,770.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ลดลง -13.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว 14.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้นที่ระดับ 90.5 จากระดับ 89.0 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยมาจากภาคการผลิตที่ยังคงขยายตัวตามความต้องการสินค้าโดยเฉพาะตลาดในประเทศ หลังการเปิดประเทศและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลจากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อการผลิตและส่งออกสินค้าในระยะต่อไป สำหรับภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนสิงหาคม 2565 ลดลง -3.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง -2.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จากการลดลงของผลผลิตสำคัญ เช่น ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตในหมวดไม้ผล และหมวดปศุสัตว์
โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 7.86% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 3.15% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 60.75% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ในเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 0.68% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 215.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 65)
Tags: GDP, การส่งออก, ท่องเที่ยว, วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย