นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้นยังคงเป็นทิศทางอ่อนค่า จากปัจจัยหลักของการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในโลก ซึ่งยังคงเห็นภาพของดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าได้แก่ 1) การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สามารถใช้นโยบายการเงินที่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มากและเร็วกว่าประเทศอื่น 2. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ หรือเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอย (Recession) ทำให้คนหันกลับเข้ามาถือดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น Safe Haven ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าได้
“ปัจจุบันเราเจอทั้ง 2 ภาพเลย ตั้งแต่ช่วงสงครามรัสเซียกับยูเครนเป็นต้นมา เรายังมีความเสี่ยงการเมืองในฝั่งยุโรป และวันอาทิตย์นี้ก็จะมีการเลือกตั้งอิตาลี ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสกุลเงินยูโร ทำให้ระยะสั้นคนอยากถืออะไรที่เซฟ และยังได้ Yield สูงอยู่ ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นคำตอบ ทำให้ทิศทางดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าต่อได้บ้าง นโยบายการเงินต่าง ๆ ของเฟด ตลาดได้รับรู้ไปแล้ว การถือดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น Safe Haven ก็ยังมีอยู่ จึงยังแข็งค่าต่อเนื่อง และบาทมีโอกาสอ่อนค่าได้” นายพูนกล่าว
สำหรับแนวต้านค่าเงินบาทในระยะสั้นมองว่าอยู่ที่ 37.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้าทะลุดังกล่าวไปก็มีโอกาสอ่อนค่าไปเกือบ 38 บาท/ดอลาร์สหรัฐฯ แต่ยังมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปไม่ถึงระดับ 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแล้ว 10% ตั้งแต่ต้นปี หากอ่อนค่าต่อไปถึง 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นการอ่อนค่าลงไปอีก 10% ซึ่งหากเป็นการอ่อนค่าไปที่ระดับ 40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะต้องมีปัจจัยพี้นฐานรุนแรงกับเศรษฐกิจไทยพอสมควร หรือเกิดวิกฤตถดถอยฉับพลันทันด่วน แต่มองว่ายังไม่เห็นภาพนั้นเกิดขึ้น
หากมองไปในระยะยาว เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าได้บ้าง แต่จะเป็นการแข็งค่ามากหรือแข็งค่าน้อยนั้น จะต้องรอดูปัจจัยที่มีผลต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ว่าจะเป็นอย่างไร แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทย หลังจากที่เปิดประเทศและมีการเดินทางท่องเที่ยวต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงปลายปีเข้าสู่ Peak Season ของการท่องเที่ยว จึงฝากความหวังไว้พอสมควรว่าช่วงปลายปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนปัญหา Global Supply ตอนนี้ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นแล้วพอสมควร สะท้อนจากดัชนีชี้วัดต่าง ๆ จะเห็นว่าค่าขนส่ง ค่าระวางเรือเริ่มมีการปรับลดลงมาแล้ว ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเริ่มขาดดุลน้อยลง และอาจมีโอกาสค่อย ๆ พลิกกลับมาเกินดุลและช่วยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
ส่วนทิศทางของกระแสเงินทุน (Fund Flow) แม้ว่าช่วงนี้จะดูค่อนข้างเงียบ เพราะเศรษฐกิจยังคงมีความผันผวน แต่หากทุกอย่างคลี่คลายลง เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจจะทยอยกลับมาเข้ามาซื้อหุ้นไทยบ้างในช่วงปลายปีนี้ ส่วนตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ต่างชาติยังไม่เป็นฝั่งซื้อสุทธิ เพราะหากเปรียบเทียบผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ของไทยถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ถ้าเมื่อใดผลตอบแทนตราสารหนี้ของไทยเริ่มขยับขึ้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เงินบาทเริ่มหยุดอ่อนค่า และเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะเริ่มกลับมาซื้อตราสารหนี้ไทยเพิ่มเติม
“จากทิศทางบวกในช่วงปลายปีนี้ ทำให้มองว่าในช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงต้นปี 66 คาดว่าเงินบาทอาจจะกลับมาแข็งค่าได้บ้าง คาดว่า 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีโอกาสเห็นได้ แต่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือต่ำกว่านั้นอาจจะยากหน่อยในสถานการณ์ปัจจุบัน” นายพูน กล่าว
แม้จะคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 1/66 ซึ่งเป็นระดับที่ค่าเงินบาทเคยทรงตัวในช่วงสิ้นปี 64 แต่อย่างไรก็ตามดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงไม่อ่อนค่า จึงต้องจับตาอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัพไซด์ของค่าเงินบาทนั่นก็คือ จีนจะต้องเปิดประเทศและให้นักท่องเที่ยวจีนออกมา แต่ต่อให้จีนมีการผ่อนคลายนโยบาย Zero-Covid Policy ก็ไม่จำเป็นว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาท่องเที่ยวไทยทันที แต่ประเมินว่า น่าจะเป็นช่วงปลายปี 66 ที่จะเริ่มเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาในไทยจำนวนมาก
ขณะที่นักวิเคราะห์ต่าง ๆ อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%,0.75% แต่โดยส่วนของกรุงไทยมองว่าธปท.จะไม่ได้มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นแบบนั้น แต่คาดว่าอาจจะเห็นเสียงแตกให้เร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะกลัวเงินทุนไหลออกรุนแรง ส่วนคณะกรรมการที่ให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อาจมองว่าวันนี้ส่วนต่างนโยบายที่ห่างกันยังไม่เห็นความชัดเจนว่าทำให้เงินทุนไหลออกแรง ซึ่งยังคงไม่เห็นภาพการไหลออกของกระแสเงินทุนอย่างรุนแรง
“ส่วนต่างของดอกเบี้ยไทยกับต่างชาติ ในส่วนที่มีผลต่อค่าเงินนั้น นักลงทุนต่างชาติยังคงถือ Bond ระยะสั้นอเมริกา 3 เดือน ที่ให้ Yield 3% ถ้าเทียบกับบ้านเรา Yield ไม่ถึง 1% เลย จะเห็นชัดเจนว่านักลงทุนต่างชาติไม่จำเป็นต้องขาย Bond เราออกไปเลย แต่ก็ไม่เข้ามาซื้อเพิ่ม ทำให้ความน่าสนใจในการถือตราสารหนี้บ้านเราไม่ดึงดูด แต่ถ้าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไปแบบนี้ มันก็ไม่เกิดเงินไหลออกอย่างรุนแรง เป็นจุดหนึ่งที่เข้าใจแบงก์ชาติที่ต้องการสร้างสมดุลการขึ้นดอกเบี้ยเพี่อคุมเงินเฟ้อ โดยไม่กระทบฟื้นตัวภาคเศรษฐกิจมากเกินไป และเชื่อว่าแบงก์ชาติไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อควบคุมระดับราคา แต่เป็นการบริหารค่าเงินเพื่อทำให้ค่าเงินบาทไม่เกิดความผันผวนมากเกินไป” นายพูน กล่าว
โดยปัจจุบันสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชน คือ ความผันผวนที่มากขึ้น จะเห็นว่าจากเดิมในช่วงต้นปี ความผันผวนของค่าเงินบาทเคลื่อนไหวแกว่งตัวเฉลี่ยวันละ 0.10-0.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่วันนี้สิ่งที่เป็น New Normal ของเงินบาท คือ การเคลื่อนไหวที่แกว่งวันละ 0.25-0.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือบางทีจะเห็นการแกว่งตัว 0.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
“วันนี้ค่าเงินบาทถือว่ามีความผันผวนเป็นพิเศษ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ธปท.อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลระดับราคามาก แต่เน้นการบริหารไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป อีกทั้งไม่คิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า และไม่ทำให้กนง.เปลี่ยนใจเร่งขึ้นดอกเบี้ย” นายพูน กล่าว
แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีการอ่อนค่า แต่ถือว่ายังไม่ได้อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ถ้าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินบาทอ่อนค่า 10% แต่ถ้าเทียบสกุลเงินในโซนเอเชียด้วยกัน ประเทศที่คนกังวลมากที่สุดในภูมิภาค คือ ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ดำเนินนโยบายสวนทางกับทุกคน เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจที่เงินเยนอ่อนค่าไปแล้วเกือบ 19% มากกว่าเงินบาทเท่าตัว แต่ก็อาจจะมีความกังวลบ้างว่าค่าเงินบาทจะไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่
ส่วนค่าเงินในภูมิภาคเอเชียประเทศอื่น ๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ และไต้หวัน อ่อนค่า 12-15% ใกล้เคียงกับค่าเงินบาท เพราะทั้ง 2 ประเทศส่งออกสินค้ากลุ่มอิเลคทรอนิกส์ ในมุมของการลงทุนมีการโดนแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ในตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันออกมา จากการที่ธีมหุ้นอิเลคทรอนิกส์และเทคฯ ไม่ใช่ธีมที่ตลาดเล่นกันในปีนี้ และการส่งออกสินค้าดังกล่าวเริ่มเห็นดีมานด์ชะลอลงมาพอสมควร ทำให้ค่าเงินของทั้งสองประเทศอ่อนตัวลงกว่าเงินบาทไทย
สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าใกล้เคียงกับในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย อ่อนค่าเกือบ 9% แต่ก็มีบางประเทศที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่า เช่น อินโดนีเซีย อ่อนค่า 5% และเวียดนาม อ่อนค่าไม่ถึง 4% แต่ในมุมมองสำคัญที่ควรประเมินเกี่ยวกับค่าเงินคือ ดัชนีเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate) ซึ่งปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าถ้าเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าไม่ถึง 2%
การแข็งของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ผู้ส่งออกถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์เป็นหลัก แต่อาจจะมีผู้ส่งออกบางรายที่เกี่ยวกับธุรกิจเกษตร อาหาร หากผู้ประกอบการรายใดนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แม้ว่าภาคเกษตรจะส่งออกสินค้าได้ดี จากการที่มีความต้องการอาหารเติบโตกลับมา แต่อย่าลืมว่าเกษตรกรได้เจอต้นทุนปุ๋ยที่แพงมากขึ้น บางทีอาจจะไม่ได้กำไร แต่ในภาคธุรกิจที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอาจจะยังได้ประโยชน์อยู่ และผู้ส่งออกสินค้าอิเลคทรอนิกส์ก็เป็นอีกกลุ่มที่ยังได้ประโยชน์เช่นกัน
“หากสินค้าไทยที่ส่งออกไป เป็นสินค้าที่มีความน่าสนใจและมี Value added ราคาดี ก็ได้รับอานิสงส์ดีไป ซึ่งก็กลับมามองที่ในตลาดหุ้นบ้านเรา ก็จะเห็นว่าหุ้นที่ส่งออกสินค้าแบบนี้จะปรับตัวขึ้นดีกว่าหุ้นกลุ่มอี่น ๆ” นายพูน กล่าว
ด้านธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่า และเงินบาทที่อ่อนค่า ก็คือกลุ่มผู้นำเข้า ที่อาศัยการนำเข้าทุกอย่างมาผลิตและขายในประเทศ เช่น กลุ่มโลหะ กลุ่มเหล็ก ก็จะเผชิญปัญหามากในช่วงเวลานี้ แต่เท่าที่มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการหลายท่านพบว่า ได้มีการปิดความเสี่ยงไปพอสมควร ส่วนธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภคในประเทศ ยังคงน่ากังวล เพราะต้องแบกรับต้นทุนนำเข้าที่สูง และกลุ่มธุรกิจรายใหม่ ๆ จะมีปัญหา เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมมานาน จะไม่ได้รับวงเงินในการทำ Forward Options ทำให้ไม่สามารถปิดความเสี่ยงค่าเงินได้
สำหรับแนวทางการบริหารค่าเงินในการทำธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
1) กลุ่มธุรกิจที่มีการส่งออกสุทธิ (Net Export) แม้จะมีการนำเข้าบ้างแต่เป็นส่วนน้อย เป็นทั้งบริษัทข้ามชาติ บริษัทขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการเหล่านี้มีการบริหารความเสี่ยงที่ดีมากอยู่แล้ว แต่ทางด้านบริษัท SME อาจจะไม่ปิดความเสี่ยงเต็มที่ อาจจะมีพฤติกรรมพื้นฐานของคนที่อยากเก็งกำไรเสมอ ทำให้อาจจะมีการรอจังหวะเวลาในการปิดความเสี่ยง ซึ่งการไม่ปิดความเสี่ยงตอนนี้ ทำให้มีโอกาสผิดทาง เพราะต้องยอมรับว่าปีนี้ค่าเงินมีความผันผวนสูงมาก
2) กลุ่มที่นำเข้าส่งออกเท่ากัน (Natural Hedge) กลุ่มนี้ไม่ต้องกังวลเลย เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีเงินเข้าออกที่สมดุลกัน ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) เข้าเท่าไหร่ก็จ่ายออกผ่าน FCD ไปเลย ไม่ค่อยทำ Forward หรือ Options และ
3) กลุ่มธุรกิจที่มีการนำเข้าสุทธิ (Net Import) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตอนนี้เจอผลกระทบมาก ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการใช้วิธีการทำ Forward Options แต่รายย่อย ๆ อาจรอทำกำไรบ้าง รอจังหวะค่าเงินขึ้นบ้าง แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่ามาขนาดนี้ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยหลายรายรอจังหวะแล้วไม่ได้ปิดความเสี่ยง
“คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการทั้งส่งออกและนำเข้า เราแนะนำว่าให้ปิดความเสี่ยงไปเลย เราเอาเวลาไปบริหารจัดการความเสี่ยงธุรกิจ หรือหาแนวทางการเพิ่มยอดขายตรงนี้จะดีกว่า อย่าเก็งกำไรค่าเงินเลย เป็นการเดาทิศทางได้ยากพอสมควร” นายพูน กล่าว
สำหรับช่วงที่เหลือในปีนี้จะต้องติดตามเงินเฟ้อสหรัฐฯ ว่าจะมีการชะลอตัวลงมาหรือไม่ โดยแนะนำให้ดูตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป (Core Inflation) ที่หากใช้คณิตศาสตร์ในการคำนวณแล้วเงินเฟ้อควรจะลดลง เพราะเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นไปสร้างฐานสูงแล้ว และราคาน้ำมันก็เริ่มนิ่ง ๆ แต่สิ่งที่เฟดกังวลเป็นเรื่องของเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารและพลังงานออก ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางค่าเงิน โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลงช้าและฝังรากลึกนาน การแก้ปัญหาเงินเฟ้อของเฟดจะยากขึ้น และจะยังคงเห็นการเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้ต้องจับตามองเงินเฟ้อพื้นฐานสหรัฐฯ ว่าจะเริ่มชะลอลงต่อเนื่องหรือไม่
โดยแนะนำให้ติดตามคาดการณ์เงินเฟ้อระยะกลางของสหรัฐฯ (Inflation Expectation) รวมถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่เริ่มตึงตัวน้อยลงหรือการจ้างงานน้อยลง ปัจจัยดังกล่าวจะเริ่มเป็นสัญญาณที่ดีแล้วว่าเฟดอาจจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หรือมากกว่า Dot Plot ที่ 4.75% โดย ณ วันนี้ตลาดกับ Dot Plot มัน Inline กัน ไม่น่ามีอะไรเซอร์ไพรส์ความรู้สึกตลาดได้ แต่ถ้าเงินเฟ้อไม่ลง ตลาดแรงงานแข็งแกร่ง ค่าเช่าบ้านยังสูง เฟดยังคงต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และหากดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขึ้นไปทะลุ 5% จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนได้อีก
ส่วนภาพแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผลของการขึ้นดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แน่นอน ซึ่งหากมองไปข้างหน้าภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะค่อย ๆ ชะลอตัวลง และจะมีการเปรียบเทียบว่า จังหวะที่คนอื่นแย่ลง ไทยจะเริ่มดีขึ้นหรือไม่ ถ้าเศรษกิจอื่น ๆ เริ่มดีขึ้นกว่าสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะค่อย ๆ อ่อนค่าลงได้ และจังหวะนั้นจะเป็นจังหวะกลับตัวของทุก ๆ สกุลเงิน ในแง่ของการกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 65)
Tags: SCOOP, ค่าเงินบาท, พูน พานิชพิบูลย์, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท