น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ฉบับที่ 2 ซึ่งจะมีผลให้การใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (UCEP) สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. จะครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีแดง
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ของไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะหลังการระบาดใหญ่ (Post Pandemic) ซึ่งการใช้สิทธิ UCEP ต้องกลับเข้าสู่ระบบปกติ รวมถึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันด้วย
สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งใช้สิทธิ UCEP ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป ได้มีการปรับปรุงในหลายส่วน อาทิ การกำหนดให้ยกเลิกค่าจ่ายบางรายการในหมวดค่าห้องและค่าอาหาร ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา
ขณะเดียวกัน กำหนดใหกรณียาโมลนูพิราเวียร์, เรมเดซิเวียร์, เนอร์มาเทรลเวียร์ (nirmatrelvir) และริโทนาเวียร์ (ritonavir) ให้เบิกยาหรือค่าใช้จ่ายจากกองทุนของผู้มีสิทธิ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม ส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กองทุนของผู้มีสิทธิกำหนด
นอกจากนี้ ให้กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, UCEP, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, โควิด-19, ไตรศุลี ไตรสรณกุล