ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้อง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำเลยที่ 1 และพวกรวมกัน 7 คน จากการที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบร่วมประชุมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากคำฟ้องของ BTSC ยังไม่มีน้ำหนักในหลายประเด็น ได้แก่ การยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน นั้นเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกใช้ดุลพินิจพิจารณายกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน จากนั้นผู้ว่า รฟม. (จำเลยที่1) ออกประกาศเรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ฯ ตามมติคณะกรรมการคัดเลือก โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC (โจทก์) หรือการกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมายหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อโจทก์
นอกจากนี้ เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ และ ประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติมรายละเอียด รวมถึงลดหรือขยายระยะเวลาของการคัดเลือกตามประกาศเชิญชวนข้อเสนอฉบับนี้ เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของ รฟม. และมติคณะรัฐมนตรี
อีกทั้ง คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ขยายระยะเวลาออกจากกำหนดยื่นข้อเสนอเดิมอีก 45 วัน เพื่อให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้มีเวลาจัดเตรียมข้อมูลข้อเสนอเพิ่มเติมอีก พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่ง
นายธงชัย พรเศรษฐ์ หัวหน้าคณะทนายความ BTSC กล่าวว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเบื้องต้น ศาลเห็นว่า การปรับเกณฑ์คัดเลือกฯสายสีส้ม คณะกรรมการมาตรา 36 และรฟม. มีอำนาจสามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่บีทีเอสได้ยื่นคำแย้งไป ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพาษาออกมา ทาง BTSC จะใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาแน่นอน ซึ่งบีทีเอสยังเชื่อมั่นใจพยานหลักฐานที่นำเสนอ
โดยจะรอคำสั่งศาลที่เป็นทางการ ซึ่งจะมีคำพิพากษาโดยละเอียดหลังจากนี้ประมาณ 10 วันทำการ และคณะทำงานทางกฎหมายของ BTSC จะร่วมกันพิจารณา ว่า ยังมีกรณีหรือประเด็นใดที่ยังไม่เห็นด้วยและยังไม่ถูกต้องตาม ข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการต่อไป โดยใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ ตามกำหนดยื่นภายใน 1 เดือนนับจากมีคำพิพากษา แต่เนื่องจากในคำพิพากษา จะมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาจจะใช้สิทธิ์ขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป ส่วนจะขยายไปแค่ไหน จะขอพิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องพยานเอกสาร ที่มีจำนวนมากก่อน
“ต้องยอมรับว่า การประมูลสายสีส้ม ที่มีข้อพิพาท หรือการดำเนินกระบวนการ มีเรื่องที่ปรากฎออกมาทางสื่อในแง่มุมต่างๆ มากมายซึ่งบีทีเอสจะพยายามหาข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อยื่นอุทธรณ์ และเพื่อให้เรื่องนี้มีข้อยุติที่เป็นบรรทัดฐานที่ยอมรับกันได้ และแสวงหาความเป็นธรรม และโครงการนี้ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ประเทศ ในฐานะบีทีเอสเป็นบริษัทเอกชนที่ทำงานมีธรรมาภิบาลมาตลอด จึงจะต่อสู้ถึงที่สุด”นายธงชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 65)
Tags: BTSC, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ, รฟม., ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ, ศาลอาญา