นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติอนุมัติ เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและ ยูเครน โดยแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย
1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท ได้แก่
(1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 819,765.19 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของรัฐบาล ส่วนที่เหลือเป็นการให้กู้ต่อแก่ การรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง
(2) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ วงเงิน 233,020.28 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในสาขาคมนาคม (รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) สาขาพลังงาน (ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน) สาขาสาธารณูปโภค (ปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาต่างๆ) สาขาที่อยู่อาศัย (พัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง)
2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 1,589,973.34 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 145,989.59 ล้านบาท เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้การบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม
3) แผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท เป็นแผนการชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ
ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 คาดว่า จะอยู่ที่ 60.43% ซึ่งยังอยู่ใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังที่ 70%
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในแผนงบฯ ปี 66 นี้ ครม. อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจจำนวน 4 แห่งได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์จำกัด (ธพส.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิมได้ ภายใต้แผนปีงบ ฯ 66 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ต้องรับความคิดเห็นของ คณะกรรมการบริหารหนี้ฯ ไปดำเนินการด้วย เช่น ขสมก. และ รฟท. ให้เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้น รวมทั้งให้รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของรายงานต่อคณะกรรมการบริหารหนี้เพื่อทราบด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารหนี้ ฯ จัดทำแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี สำหรับปีงบฯ 66-70 เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารที่สาธารณะได้ระยะเวลา 5 ปีโดยมีโครงการลงทุนรวม 175 โครงการวงเงินลงทุนรวม 898,224.94 ล้านบาท โดยขอให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการและการลงทุนของโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการล่าช้าเพื่อเพิ่มการลงทุนของภาครัฐในระยะต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 65)
Tags: กระทรวงการคลัง, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, หนี้สาธารณะ, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ