นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แสดงความกังวลหากในท้ายสุดแล้วร่าง พ.ร.บ.เงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (พ.ร.บ.กยศ.) จะต้องยกเลิกการคิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ เนื่องจากจะมีผลต่อการดำเนินงานของ กยศ. ที่มีสถานะเป็นกองทุนหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบัน กยศ. ไม่ได้ขอรับเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว
โดยในแต่ละปี กยศ. จะมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ ประมาณกว่า 3 พันล้านบาท และเบี้ยปรับอีกประมาณ 3 พันล้านบาท ดังนั้น หากจะยกเลิกการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ และไม่มีเบี้ยปรับ อาจจะทำให้รายรับในส่วนนี้หายไปปีละ 6 พันล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการปล่อยกู้ให้กับนักเรียน นักศึกษาในระยะต่อไปลดลงได้
จากเดิมที่เคยให้กู้ได้ปีละประมาณ 4 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยเหลือได้ปีละกว่า 6 แสนคน ก็อาจจะเหลือเงินให้กู้ได้ 2-3 หมื่นล้านบาท ทำให้แต่ละมหาวิทยาลัย จะต้องไปปรับลดโควตาจำนวนนักศึกษาที่จะได้รับสิทธิการกู้เงิน กยศ.ลง หรือถ้าหาก กยศ.ต้องการจะปล่อยกู้ต่อปีในจำนวนเงินเท่าเดิม ก็จำเป็นต้องกลับไปขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล ซึ่งก็คือเงินภาษีของประชาชนนั่นเอง
“หากในกรณีกองทุนฯ ไม่มีการเก็บดอกเบี้ย และไม่มีเบี้ยปรับ เงินที่กองทุนฯ ปล่อยกู้ออกไป ก็จะไม่มีดอกผลกลับมา กยศ.จะเสียรายได้ปีละประมาณ 6 พันล้านบาท” นายชัยณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ดี กยศ.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ก็พร้อมจะดำเนินการตาม หากในท้ายสุดแล้วร่าง พ.ร.บ.กยศ. จะต้องยกเลิกการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ และเบี้ยปรับ เพียงแต่ยอมรับว่ามีความกังวลใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ กองทุนฯ จะมีเงินเข้ามาหมุนเวียนน้อยลง จนมีโอกาสกระทบต่อความสามารถในการปล่อยกู้ และ 2.วินัยทางการเงินของผู้กู้ที่อาจจะหายไป
ทั้งนี้ หากจำแนกผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มที่ยากจน คือเรียนจบแล้ว กลับมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามความยากจนได้ 2. กลุ่มที่ขาดวินัยการเงิน มีรายได้ แต่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และ 3. กลุ่มที่ไม่มีจิตสำนึก มีเงินในบัญชีแต่ไม่ยอมชำระหนี้
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 และ 3 ไปแล้ว ยังเหลือเข้าสู่การพิจารณาในชั้นของวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่ง กยศ. เตรียมพร้อมจะเข้าชี้แจงข้อมูลต่าง ไม่ว่าจะเป็นสถานะการเงินของกองทุนฯ แนวโน้มการดำเนินงานของกองทุนฯ
“ร่างกฎหมาย เพิ่งผ่านวาระ 3 ตอนนี้รอเข้าวุฒิสภา เราเตรียมการชี้แจงไว้แล้ว มียุทธศาสตร์ 5 ปีว่าจะเกิดอะไรขึ้น ประมาณการให้กู้ 5 ปี ประมาณการรายจ่าย 5 ปี มีประมาณการตัวเลขให้หมด และมีแผนบริหารความเสี่ยง เราจะเข้าไปชี้แจงรายละเอียดในข้อเท็จจริงว่าสถานะการเงินเราเป็นอย่างไร และเราจะอยู่ได้ไหม ตอนนี้ กยศ.มีสินทรัพย์ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท รับชำระหนี้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปล่อยกู้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท” นายชัยณรงค์ กล่าว
พร้อมยอมรับว่า ในระยะหลัง เริ่มจะเห็นสัญญาณของการชะลอการชำระหนี้ กยศ.อย่างมีนัยสำคัญ
“ปกติ เงินจะเข้าวันละ 50 ล้าน แต่ปัจจุบันเหลือ 10 กว่าล้าน ตัวเลขนี้อาจจะเกิดกระแสชะลอการจ่ายหมู่ พอหยุดจ่าย กองทุนจะหมุนไม่ได้ เริ่มชะลอการจ่ายอย่างมีนัย เพราะรอความชัดเจนของกฎหมาย” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 65)
Tags: กยศ., กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์