นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ครั้งที่ 3/2565 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ ดังนี้
(1) การจัดทำแพลตฟอร์มกลางสำหรับอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และบมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงเครือข่ายแอปพลิเคชั่นการจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้าแต่ละรายแบบ Real-Time เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเห็นข้อมูลบนทุกๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว และในอนาคตผู้ใช้บริการจะสามารถสั่งชาร์จและจ่ายเงินระหว่างกันได้จากทุกแพลตฟอร์ม
(2) การกำหนดแนวทางการขอมิเตอร์ตัวที่สองสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้วยอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นควรให้เลือกรูปแบบการติดตั้งมิเตอร์เครื่องเดียว หรือ มิเตอร์เครื่องที่สอง เพื่อเป็นทางเลือกในการพิจารณาติดตั้งใหม่เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้ใช้ไฟให้เกิดความเป็นธรรม และไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟโดยรวมสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยรวมถึงกิจการขนาดเล็ก
(3) การกำหนดอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบ Low Priority โดย กกพ.ได้กำหนดอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Public EV Charger) ในอัตรา 2.9162 บาทต่อหน่วย เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ทั้งนี้ อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอการปรับอัตราค่าไฟฟ้าใหม่เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป
(4) การขออนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้กับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยได้กำหนดปรับปรุงการจดแจ้งยกเว้นกับ การไฟฟ้านครหลวง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อลดระยะเวลาลง ทั้งนี้ กกพ.อยู่ระหว่างดำเนินการออกประกาศเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับทราบขั้นตอนที่ชัดเจนต่อไป
(5) การจัดทำมาตรฐานชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งได้จัดทำมาตรฐานแล้วเสร็จ 123 เรื่อง เช่น แบตเตอรี่ เต้าเสียบ – เต้ารับ มอเตอร์ และอินเวอร์เตอร์ เป็นต้น
(6) แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศซึ่งในที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะและแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิตนำไปพิจารณามาตรการส่งเสริมและสนับสนุนเสนอคณะกรรมการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
พร้อมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในมาตรการต่างๆ เร่งกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ในรายละเอียดการสนับสนุนมาตรการแก่ประชาชนภายในเดือนต.ค. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต
ปัจจุบันมียอดจองรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขอรับสิทธิตามมาตรการฯ รวมทั้งสิ้น 17,068 คัน รวมถึงรับทราบแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้ารวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะจำนวนทั้งสิ้น 2,572 หัวจ่าย จาก 869 สถานี และจะเร่งผลักดันเพิ่มจำนวนสถานีกระจายไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
อีกทั้งเตรียมส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ โดยเริ่มนำร่องจากรถตุ๊กตุ๊ก EV ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแนวทางการสนับสนุน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์การติดตั้งสถานีชาร์จ EV ในคอนโดมิเนียมหรือที่พักอาศัยให้ประชาชนได้รับทราบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 65)
Tags: EV, กระทรวงพลังงาน, ยานยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ไฟฟ้า, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, โครงสร้างพื้นฐาน