พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบยกเลิกประกาศการบังคับใช้พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้อำนาจแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 65 เป็นต้นไป กลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
เนื่องจาก ที่ประชุมได้พิจารณาว่าปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลก มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และแนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลง
นอกจากนี้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางสังคมเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง และได้มีการจัดทำกรอบนโยบายและแนวปฎิบัติของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน อย่างชัดเจนแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็จะทำให้การทำหน้าที่ของ ศบค. ยุติไป รวมถึงศูนย์ต่างๆ ทั้ง 9 ศูนย์ของ ศบค.ก็ต้องยุติไปด้วย และ ใช้กลไกปกติในการดำเนินการ
พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า จะนำเรื่องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า และกลไกจากนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นผู้ดูแล
อย่างไรก็ตาม หากมีการกลับมาระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ก็สามารถประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินได้อีก ซึ่งในประเทศไทยหากมีเรื่องใดที่วิกฤตที่ครม.เห็นว่า ต้องใช้กฎหมายพิเศษก็สามารถทำได้ ซึ่งในเรื่องของโควิด-19 ก็จะใช้กลไกผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง กทม. และต่างจังหวัด ก็เป็นกลไกหนึ่ง ในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ก็สามารถใช้อำนาจในการประกาศเป็นโรคระบาดได้ และใช้กฎหมายที่ตนเองมีอยู่ดำเนินการได้เลย
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า หลังจากมีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ที่ประชุมศบค.รับทราบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ดำเนินการ ซึ่งสำหรับเรื่องวัคซีนโควิด-19 จะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติทำหน้าที่ต่อ ส่วนการจัดหาและกระจายวัคซีน ก็จะเป็นหน้าที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ส่วนการเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน จะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มาดูแลตรงนี้ต่อไป พร้อมยืนยันว่า วัคซีนหลังจากนี้ก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย และศบค.ชุดใหญ่ ได้อนุมัติแผนจัดหาวัคซีน ตามที่กรมควบคุมโรคเสนอ
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์สถานการณ์โควิด-19 หลังจากนี้ว่า อาจจะเพิ่มขึ้นบ้างตามสถานการณ์ ซึ่งยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 65)
Tags: lifestyle, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ศบค., สุพจน์ มาลานิยม