นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) กล่าวก่อนการประชุม ศบค.ว่า การประชุมวันนี้ จะพูดคุยถึงเรื่องแผนการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง ซึ่งมีรายละเอียด เช่น การผ่อนคลายชาวต่างชาติไม่ต้องตรวจ ATK รวมถึงไม่ดูผลการฉีดวัคซีน เป็นต้น แต่ยังเน้นให้ประชาชนต้องดูแลตนเอง เพราะยังต้องอยู่กับโควิดไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้
ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษามีประมาณ 800-1,000 คน ส่วนการตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่รายงานเข้าระบบมีประมาณ 13,000-14,000 คนต่อวัน และยังมี ATK ที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ามีประมาณ 2-3 เท่าต่อวัน
อย่างไรก็ดี เมื่อนับรวมผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 3-4 หมื่นรายต่อวัน แต่มีอาการที่ไม่รุนแรง คือเหตุผลการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง ซึ่งการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ยังไม่เท่ากับการเป็นโรคประจำถิ่น เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้
ทั้งนี้ เมื่อประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง ถือว่าสามารถผ่อนคลายกิจกรรมได้ อย่างไรก็ตาม ย้ำให้ทุกคนดูแลตัวเอง เนื่องจากยังมีผู้ติดเชื้อ 3-4 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% เมื่อเทียบกับทั่วโลกที่มีอยู่ 1% ซึ่งไทยถือว่าต่ำกว่าทั้งโลกมาก ถึงแม้จะมีผู้เสียชีวิตไม่มาก แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกัน หลังจากติดโควิด-19 แล้ว มักจะมีอาการลองโควิด ที่ทำให้บั่นทอนสุขภาพและการทำงาน จนนำมาสู่ความวิตกกังวลและกลายเป็นจิตวิตกในที่สุด
“ย้ำให้ทุกคนประเมินความเสี่ยงตนเอง อย่าไปในที่แออัด ลดพื้นที่เสี่ยงในที่ชุมชน และยังต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย โดยเหตุผลที่ยังไม่ถอดหน้ากากอนามัย เพราะยังมีความเสี่ยง ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น และโรคนี้ยังไม่หมดไป แต่ต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ”
นพ.อุดม กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น รัฐบาลไม่กลัวเพราะได้มีการวางระบบไว้หมดแล้ว โดยเรียนรู้จากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือจากทุกกระทรวง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) โดย ศบค. ทำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันได้ และถ้าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบ ศบค. ไปด้วย
โดยเมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ก็จะใช้วิธีมอบหมายกระทรวงต่างๆ ให้ทำหน้าที่ในการทำงานและบูรณาการร่วมกัน โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปก่อน เบื้องต้นจะให้ครม. มอบหมายงานให้กระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกัน ก่อนที่ระยะยาวจะรอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ขณะนี้จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีโครงสร้างบางส่วนที่คล้าย ศบค.
“ก่อนหน้านี้ สามารถประกาศ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ ก่อนทำเข้าสู่สภาภายหลัง แต่ช่วงที่ผ่านมามีปัญหา จึงยังไม่ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ยืนยันว่า จะไม่เกิดสุญญากาศระหว่างรอกฏหมาย เพราะสถานการณ์ไม่เข้มข้นเท่ากับช่วงที่มี ศบค. และกระทรวงต่างๆ คุ้นเคยการทำงาน และมีความเชื่อมโยงกันหมดแล้ว”
นพ.อุดม กล่าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งได้ลงนามยกเลิกโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 57 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี แม้จะประกาศลดระดับจากโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่เฝ้าระวัง แต่ทางการแพทย์ก็จะยังต้องดูแลรักษารวมถึงการให้เวชภัณฑ์ที่เป็นการดูแลเฉพาะ ยาที่ใช้รักษาโควิดยังจดทะเบียนเป็นยาที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ ไม่สามารถหาซื้อได้ในตลาดทั่วไป ซึ่งเวชภัณฑ์ที่มีอยู่ตอนนี้เพียงพอกับอาการและจำนวนผู้ติดเชื้อ
ส่วนเรื่องการกักตัวหากมีอาการไม่รุนแรงหรือมีอาการน้อยไม่จำเป็นต้องกักตัวนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้ติดตามรายละเอียดจากที่ประชุม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, การประชุม ศบค., ศบค., อุดม คชินทร, โควิด-19, โรคติดต่อเฝ้าระวัง