นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว โดยให้ความเห็นต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศในช่วงสัปดาห์นี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) อีก +0.75%, ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย คงไว้ที่ -0.1% และธนาคารกลางอังกฤษ(BoE) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก +0.5%
ทั้งนี้ จะเห็นว่าแต่ละประเทศมีปัจจัยภายในที่แตกต่างกัน อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นสูงขึ้น แต่ก็ยังอยู่ที่เพียง 3% ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศอื่นมาก ธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงเห็นว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลลบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่นั่นหมายถึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเทียบกับประเทศอื่นจะสูงขึ้น และส่งผลกระทบกับให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมาตัดสินใจใช้แนวทางแทรกแซงค่าเงินโดยตรง
นางนฤมล มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 28 ก.ย.นี้ คาดกันว่า กนง.จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก +0.25% เป็นการทยอยขึ้นไม่ให้เกิดผลกระทบมากไปกับต้นทุนของธุรกิจและเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และช่วยลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศในระดับหนึ่ง เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วเกินไป
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่อ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยน ควรทำการป้องกันความเสี่ยง และภาครัฐควรควบคุมต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงให้เหมาะสม
“ที่ผ่านมา กนง.ได้พิจารณาข้อมูลรอบด้าน และตัดสินใจทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยทีละน้อย ซึ่งในภาพรวมถือว่ามีความเหมาะสม เราจึงเห็นค่าเงินบาทค่อย ๆ อ่อนตัว ซึ่งส่งผลดีกับภาคการส่งออก ส่วนธุรกิจนำเข้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมาต่อเนื่อง จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแทรกแซงค่าเงินโดยตรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล”
นางนฤมล ระบุ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรต้องระมัดระวัง คือเมื่อเดือน มิ.ย.65 สหรัฐฯ ยังคงประกาศขึ้นบัญชีประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตาเพราะบิดเบือนค่าเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรณีเลวร้าย หากเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออก ระหว่างไทยกับสหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 65)
Tags: ค่าเงิน, ค่าเงินบาท, นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, พรรคพลังประชารัฐ, อัตราดอกเบี้ยนโยบาย