นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนจากหลากหลายปัจจัย โดยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันมองว่าเป็นผลกระทบจากการไหลเข้าของเงินภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ยังไม่เต็มที่ ซึ่งหากประเทศต่างๆสามารถเปิดให้เดินทางได้อย่างเต็มที่จะเป็นปัจจัยหนุนให้นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้เงินบาทค่อยๆ แข็งค่ากลับขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
นอกจากนั้น เงินบาทอ่อนค่ายังมาจากการขาดดุลการค้า แต่จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมากการส่งออกสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง และ เงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาสู่ภาคบริการ การท่องเที่ยว ที่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง
ด้านเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามายังตลาดตราสารหนี้ และ ตลาดตราสารทุน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 6,000-7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก และเกือบเทียบเท่ากับเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว
นายภากร กล่าวถึงมุมมองต่อนโยบายทางการเงินของไทยว่า ให้สังเกตจากที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวไว้ในงาน Thailand Focus ว่านโยบายการเงินของประเทศไทยอาจจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ เนื่องจากสถานการณ์ และพื้นฐานที่แตกต่างกัน โดยจะดำเนินนโยบายทางการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศแตกต่างกัน ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป คือ บางประเทศเกิดจากประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand – Pull) บางประเทศเกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost – Push) จึงอยากฝากถึงนักลงทุนว่ามาตรการทางการเงินของประเทศไทยอาจจะไม่เหมือนกับมาตรการทางการเงิน หรือนโยบายทางการเงินของทั่วโลก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, ภากร ปีตธวัชชัย, เงินบาท, เศรษฐกิจไทย