In Focus: ส่องความท้าทายเบื้องหน้ารัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ

ภาพ: รอยเตอร์

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อให้เกิดการถกเถียงถึงอนาคตสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแนวคิดความเท่าเทียม และความหลากหลายกำลังเบ่งบาน ตลอดจนอุปสรรคและบททดสอบเบื้องหน้าต่าง ๆ ที่พระองค์จะต้องทรงเตรียมตัวรับมือนับจากวันนี้

In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาผู้อ่านไปสอดส่องสารพัดความท้าทายและบททดสอบเบื้องหน้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นับตั้งแต่กระแสต่อต้านราชวงศ์ อนาคตของเครือจักรภพ ปมล่วงละเมิดทางเพศของเจ้าชายแอนดรูว์ ไปจนถึงข้อกล่าวหาเรื่องการรับเงินบริจาคเพื่อแลกยศตำแหน่ง

อนาคตที่สั่นคลอนของเครือจักรภพ

การเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องการเป็นสาธารณรัฐมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชาชน 15 ราชอาณาจักรเครือจักรภพที่ยังคงนับถือกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขรัฐ หลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณเกี่ยวกับแผนการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนเป็นระบบสาธารณรัฐ

ทันทีที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ นายแกสตัน บราวน์ นายกรัฐมนตรีแอนติกาและบาร์บูดา ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือจักรภพประกาศว่า ภายในช่วง 3 ปีนี้ รัฐบาลจะจัดทำประชามติว่า ควรยกเลิกการมีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข และเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐหรือไม่ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลของจาเมกาที่ได้ประกาศแผนการเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาว่า จะเปลี่ยนสถานะของประเทศไปสู่สาธารณรัฐภายในปี 2568

เมื่อเดือนพ.ย. 2564 บาร์เบโดสกลายเป็นประเทศแรกของเครือจักรภพในรอบหลายปีที่ตัดสินใจถอดถอนราชวงศ์อังกฤษออกจากการเป็นประมุข และจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนแรกแทน เช่นเดียวกับประเทศเบลีซในอเมริกากลาง โดยนายเฮนรี ชาร์ลส์ อัชเชอร์ รัฐมนตรีกระทรวงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและการเมืองเคยแสดงความเห็นที่สอดคล้องกันว่า “บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่เบลีซจะก้าวไปอีกขั้นในการเป็นประเทศที่มีเอกราชอย่างแท้จริง แต่มันเป็นเรื่องที่ชาวเบลีซต้องตัดสินใจ”

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสู่สาธารณรัฐได้รับความสนใจมากขึ้นในหลายประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนได้จากการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรีของแอนโธนี อัลบานีส ผู้นำพรรคแรงงานของออสเตรเลียที่มีหัวคิดสาธารณรัฐเป็นทุนเดิม อีกทั้ง นายอดัม แบนดท์ หัวหน้าพรรคกรีนส์ได้ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ว่า การสวรรคตของควีนเอลิซาเบธเป็นช่วงเวลาที่ประเทศจำเป็นต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์กับอังกฤษ

ประเทศข้างเคียงอย่างนิวซีแลนด์ นางจาร์ซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงแกร่งกล่าวยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตนี้ และนิวซีแลนด์จะไปถึงจุดนั้นเมื่อถึงเวลาที่สมควร โดยระบุว่า “ดิฉันเชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของดิฉัน แต่ไม่คิดว่าจะเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการในระยะเวลาอันใกล้นี้”

ภาพ: รอยเตอร์

ฟิลิป เมอร์ฟีย์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์อังกฤษและเครือจักรภพแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนคาดการณ์ว่า เครือจักรภพจะแตกเป็นเสี่ยงภายใต้รัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เนื่องจากหลายประเทศจะลงมติเพื่อเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ การรักษากลุ่มประเทศที่แตกต่างกันซึ่งประกอบกันเป็นเครือจักรภพอาจเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของกษัตริย์ชาร์ลส์

กระแสต่อต้านระบอบกษัตริย์ในอังกฤษ

นอกจากความท้าทายของเครือจักรภพ การถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนสู่ระบอบสาธารณรัฐเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ บนเกาะอังกฤษเอง หลายฝ่ายถึงขนาดมองว่า แม้ชาวอังกฤษจะรักสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่การที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งทรงได้รับความนิยมน้อยกว่าได้ขึ้นครองราชย์นั้น อาจบ่งชี้ว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษกำลังใกล้จะสิ้นสุดลง

กระแสการต่อต้านราชวงศ์ปะทุขึ้นประปราย โดยเฉพาะการประกาศไม่ยอมรับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งเกาะอังกฤษ ในช่วงขบวนพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นักกิจกรรมหลายคนออกมาชูป้ายที่มีข้อความ Not My King (ไม่ใช่กษัตริย์ของฉัน) และ ‘Abolish the Monarchy’ (ล้มเลิกระบอบกษัตริย์) แม้ว่าจะถูกจับกุมตัวในภายหลังก็ตาม

เกรแฮม สมิธ ผู้นำกลุ่มเรียกร้องสาธารณรัฐในอังกฤษ ‘รีพับลิก’ (Republics) มองว่าช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัยเป็นโอกาสดีในการรณรงค์การล้มเลิกระบอบกษัตริย์ โดยเฉพาะในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่คาดกันว่าจะจัดขึ้นในปีหน้า โดยระบุว่า “มีการเปลี่ยนผ่านในแง่ของวาทกรรมสาธารณะต่อสถาบันกษัตริย์ มีเสียงที่ไม่เห็นด้วยมากขึ้นต่อสถาบัน ซึ่งบางส่วนเป็นผลมาจากการจับกุมผู้ประท้วงที่ไม่เป็นธรรม การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และเรื่องอื้อฉาวของมูลนิธิการกุศล”

ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์มองว่า ความรู้สึกและมุมมองของคนอังกฤษรุ่นใหม่ต่อสถาบันนั้นเปลี่ยนไป พวกเขาไม่ได้รู้สึกผูกพันกับพระราชวงศ์เหมือนเช่นคนรุ่นเก่า ซันเดอร์ คัทวาลา ผู้อำนวยการบริติช ฟิวเจอร์ สถาบันวิจัยด้านการศึกษาของอังกฤษเปิดเผยผลการสำรวจที่ระบุว่า มีเพียง 40% ของผู้ที่มีอายุ 18-24 ปีเท่านั้นที่สนับสนุนการคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะที่ 37% ของกลุ่มชาติพันธุ์สนับสนุนระบอบกษัตริย์

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจของ YouGov ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ระบุว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ชาวอังกฤษเกือบ 75% สนับสนุนให้คงสถาบันกษัตริย์ต่อไป แต่ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดประมาณ 60% เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ระดับความนิยมในตัวพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นั้นอยู่ที่เพียง 54% ขณะที่ความนิยมของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ก่อนสวรรคตอยู่ที่ประมาณ 81%

ปมการล่วงละเมิดทางเพศของเจ้าชายแอนดรูว์

บททดสอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือปมของเจ้าชายแอนดรูว์ พระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ทรงถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดในคดีทางเพศ จนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์อย่างหนัก

เมื่อปี 2562 เจ้าชายแอนดรูว์ทรงประกาศยุติการปฏิบัติภารกิจในฐานะพระราชวงศ์ หลังทรงให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพระองค์กับเจฟฟรีย์ เอปสไตน์ ผู้ต้องหาคดีล่วงละเมิดทางเพศ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เจ้าชายแดนดรูว์ทรงถูกริบยศทหารและการเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรการกุศลเพื่อทรงเตรียมต่อสู้คดีในฐานะสามัญชน หลังถูกฟ้องข้อหาล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ที่ระบุว่า พระองค์มีความสัมพันธ์ทางเพศกับหญิงสาววัย 17 ปี ซึ่งนายเจฟฟรีย์ เอปสไตน์ จัดหามาให้ แต่ผ่านไปไม่พ้นเดือน เจ้าชายได้ทำข้อตกลงไกล่เกลี่ยนอกศาลกับเวอร์จิเนีย จิวฟรี หญิงชาวอเมริกันที่เป็นผู้เสียหายในคดี โดยเจ้าชายทรงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และไม่ทรงถูกตั้งข้อหาทางอาญา

สิ่งที่สังคมอังกฤษอาจกำลังทวงถามกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต่อไปก็คือ บทบาทของเจ้าชายแอนดรูว์ในรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าจะถูกริบยศทหาร เจ้าชายแอนดรูว์ยังทรงมีบรรดาศักดิ์เป็นดยุกแห่งยอร์ก มิหนำซ้ำ ยังทรงได้รับอนุญาตให้กลับมาสวมเครื่องแบบทหารในการยืนเฝ้าหีบพระบรมศพ (Stand Vigil) สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก

มูลนิธิการกุศลเจ้าปัญหา

ก่อนที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ พระองค์เคยมีความสัมพันธ์กับมูลนิธิการกุศลหลายแห่ง ซึ่ง 2 แห่งกำลังถูกตำรวจเข้าสอบสวน จนส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั่วเกาะอังกฤษ

เมื่อเดือนก.ย. 2564 สื่ออังกฤษรายหนึ่งรายงานว่า มีการมอบยศและสัญชาติอังกฤษให้ชาวซาอุดีอาระเบียรายหนึ่ง เพื่อแลกกับการบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ เดอะ พรินซ์ ฟาวน์เดชัน (The Prince’s Foundation) ซึ่งเป็นมูลนิธิการกุศลของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จนส่งผลให้นายไมเคิล ฟอว์เซ็ตต์ ผู้ช่วยคนสนิทและมือขวาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิเมื่อเดือนพ.ย. 2564

ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน ตำรวจกรุงลอนดอนได้เข้าดำเนินการสอบสวนคดีอาญาต่อมูลนิธิของพระองค์ รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ ทว่าสำนักงานของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กลับปฏิเสธส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา พร้อมยุติความสัมพันธ์ระหว่างมูลนิธิกับนายฟอว์เซ็ตต์และบริษัทของเขา

นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เดอะ ซันเดย์ ไทมส์รายงานว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงรับเงินสดมูลค่า 3 ล้านดอลลาร์ จากอดีตนายกรัฐมนตรีของกาตาร์ โดยสำนักงานของพระองค์กล่าวว่า เงินดังกล่าวถูกมอบให้แก่มูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่งของพระองค์ และปฏิบัติตามกระบวนการที่ถูกต้องทั้งหมด

ต่อมาในเดือนก.ค. หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันรายงานว่า กองทุนการกุศลของเจ้าชายแห่งเวลส์รับเงินบริจาค 1.2 ล้านดอลลาร์จากพี่น้องต่างมารดาของนายโอซามา บิน ลาเดน โดยสำนักงานของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กล่าวว่า องค์กรตัดสินใจรับเพราะเป็นการมอบให้แก่การกุศล หลังจากตรวจสอบถึงความเหมาะสมแล้ว และพระองค์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ดร. บ็อบ มอร์ริส รองนักวิจัยอาวุโสกิตติมศักดิ์ด้านรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนแสดงความเห็นว่า พระองค์ควรที่จะทรงปลีกตัวออกจากมูลนิธิส่วนตัวทั้งหมด และมอบหมายงานด้านมูลนิธิให้แก่สมาชิกราชวงศ์รายอื่นแทน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา

ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับโรเบิร์ต เฮเซลล์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐบาลและรัฐธรรมนูญประจำมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ซึ่งระบุว่า .พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องขจัดความกังวลที่เกิดจากการกล่าวหาเรื่องการมอบยศศักดิ์เพื่อแลกกับการบริจาคเพื่อการกุศล การลดบทบาทด้านมูลนิธิลงนั้น น่าจะเหมาะสมกับยุคสมัยมากกว่า”

ท้ายที่สุดแล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงสามารถฝ่าฟันบททดสอบและความท้าทายอันใหญ่หลวงเหล่านี้ไปได้หรือไม่ และพระองค์จะทรงมีวิธีจัดการอย่างไร เราคงจะต้องเฝ้าดูกันต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top