นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการเสนอขายพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) 2 รุ่น มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อระดมทุนไปใช้สนับสนุนสินเชื่อให้แก่โครงการพลังงานสะอาด โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework) ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายพันธบัตร คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)
“ใน 5,000 ล้านบาทแรก แค่ดูแลสิ่งที่อยู่ในพอร์ตถือว่านิดเดียว แค่ 1-2 โปรเจกท์ก็หมดแล้ว เราคงจะออกพันธบัตรในชุดต่อไปอีกแน่ วันนี้เป็นการลองตลาด เพราะตอนแรกคิดว่าจะไม่มีคนให้ความสนใจมาก เพราะต้องถือยาว และแพง แต่พอเราเห็นการตอบรับแบบนี้ มี Investor ใหญ่ที่สนใจ เช่น กบข. กรุงไทยแอกซ่า ที่ให้การตอบรับ เกินกว่า 2 เท่าของเป้าหมาย ก็ทำให้เราเชื่อมั่นว่า ความดีมีอยู่จริง มีคนมองภาพอนาคตของประเทศที่จะต้องดีกว่านี้ มีอยู่จริง ปีหน้าอาจจะมีแบบนี้อีก” นายรักษ์ กล่าว
นายรักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK นับเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรก ที่จัดตั้งกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน และออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR (Thai Overnight Repurchase) เป็นรายแรกของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR ตามเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
สำหรับพันธบัตร แบ่งเป็น 2 ชุด คือ
1. “พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2568” (พันธบัตรชุดที่ 1) อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.25% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ตลอดอายุพันธบัตร จำนวน 3 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 3,000 ล้านบาท
2. “พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2569” (พันธบัตรชุดที่ 2) อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ยลอยตัว Compounded THOR +0.34% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือน ตลอดอายุพันธบัตร จำนวน 2 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท
“พันธบัตรทั้ง 2 รุ่นของ EXIM BANK ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากนักลงทุนชั้นนำ และสามารถระดมทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดี ในช่วงที่ตลาดเงินมีความผันผวนและดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเป็นขาขึ้น” นายรักษ์ กล่าว
นอกจากนี้ EXIM BANK มีแผนจะระดมทุนภายใต้กรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งสัตยาบันที่รัฐบาลไทยร่วมให้ไว้ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ภายในปี 2608
นายรักษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา EXIM BANK ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ไปแล้วประมาณ 30% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท และในอนาคต EXIM BANK ตั้งเป้าหมายจะขยายสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจ BCG เป็น 100,000 ล้านบาทภายในปี 2570 เพื่อร่วมกับประชาคมโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์
“EXIM BANK จะทำงานอย่างใกล้ชิดและแข็งขัน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบ Zero Waste นำกากของเสียจากโรงงานกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต หมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้าง Supply Chain ของไทยเชื่อมโยงกับ Supply Chain ของโลกที่สะอาดและนำไปสู่การพัฒนาของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ระบุ
ด้านนายโกสินทร์ พึงโสภณ ผู้เชี่ยวชาญภาคการเงิน ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและความร่วมมือในภูมิภาค ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่า การออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมของ EXIM BANK ในครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของธนาคารเพื่อมุ่งสู่การเป็นธนาคารที่ยั่งยืนของประเทศไทย สอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐในการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจ BCG Model
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในกลุ่มประเทศอาเซียนมีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาด Green Bond ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่าตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนของประเภทอื่นๆ แต่มูลค่าของตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนต่างๆ ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ทุกประเภท โดยมีสัดส่วนไม่ถึง 2%
“การออก Green Bond ของ EXIM BANK ในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันการพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย ในส่วนนี้ และแสดงถึงความมุ่งมั่นของ EXIM BANK และภาครัฐ ในการส่งเสริมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ รวมถึงภาคเอกชนที่สนใจจะออกตราสารหนี้ประเภทดังกล่าวมากขึ้น” นายโกสินทร์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ADB ยินดีที่จะได้ทำงานร่วมกับผู้ออกตราสารหนี้หลายรายในประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนของไทยให้เติบโต มีผู้ออกตราสารหนี้ที่หลากหลาย ให้ผู้ลงทุนได้มีทางเลือกมากขึ้นในการลงทุน และมีส่วนในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภาคสังคมของประเทศไทย และคาดหวังว่าการสนับสนุน EXIM BANK ในครั้งนี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ออกตราสารที่ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ออกหลักทรัพย์ในประเทศอื่นๆ ด้วย รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 65)
Tags: EXIM BANK, Green Bond, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, พันธบัตร, รักษ์ วรกิจโภคาทร