SCBAM ผุดกองทุนหุ้นอินโดฯรับเศรษฐกิจโตกว่าอาเซียนเปิด IPO 20-26 ก.ย.

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นกลุ่มอาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) สูงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศใน ASEAN โดย IMF คาดการณ์การเติบโต GDP ของประเทศอินโดนีเซียไว้ที่ 5.3% – 5.8% ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

อีกทั้งมูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนมีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นของประเทศอื่นค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะตลาดหุ้นโลกและตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงเหมาะเป็นทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนได้ SCBAM จึงได้เปิดเสนอขาย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นอินโดนีเซีย (SCBINDO) เริ่มเสนอขายครั้งแรกวันที่ 20-26 กันยายน 2565 นี้ โดยในช่วงแรกจะเสนอขายเฉพาะชนิดสะสมมูลค่า SCBINDO(A) ผู้ลงทุนสามารถลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

กองทุน SCBINDO เป็นกองทุน Feeder fund เน้นลงทุนในกองทุนหลัก VanEck Indonesia Index ETF ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ บริหารจัดการโดย VanEck Associates Corporation ซึ่งเป็นกองทุนดัชนีมุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนี MVIS Indonesia เน้นลงทุนในธุรกิจทั้งในอินโดนีเซียและนอกอินโดนีเซีย ที่มีรายได้/สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 50% ในประเทศอินโดนีเซีย ครอบคลุมหุ้นขนาดกลาง-ใหญ่ หรือคิดเป็นจำนวน 85-90% ของจำนวนหุ้นที่สามารถซื้อขายได้ (free-floated market Cap) ของตลาด และมีสภาพคล่องสูง ทั้งยังกระจายลงทุนในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในหุ้นรายตัว จากการให้น้ำหนักหุ้นรายตัวสูงสุดที่ไม่เกิน 8% และการคัดเลือกหุ้นด้วยระบบวิเคราะห์เชิงปริมาณยังสามารถช่วยลดอคติของมนุษย์ (human bias)

โดยมีตัวอย่างหุ้นในพอร์ต อาทิ BBCA IJ ธนาคารเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ, BBRI IJ ธนาคารของภาครัฐที่เชี่ยวชาญด้านไมโครไฟแนนซ์ หรือ GOTO IJ ที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งจากการควบรวมของสตาร์ทอัพยักษ์ใหญ่ Gojek และ Tokopedia เป็นต้น โดยทั้งนี้ กองทุน SCBINDO มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

อินโดนีเซีย ถือเป็นตลาดที่เศรษฐกิจยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยภาครัฐตั้งเป้าที่จะเพิ่มขนาดเศรษฐกิจให้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และเพื่อต้องการให้ประเทศออกจากอันดับรายได้ปานกลางภายในปี 2036 และเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2045 โดยจะผลักดันการเติบโตผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ในขณะเดียวกัน เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงไหลเข้ามาทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียและมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ASEAN-4 และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดข้อมูลในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ตัวเลข FDI เติบโตสูงถึงกว่า 40%YoY โดยส่วนใหญ่เข้ามาในภาคการผลิต และขนส่ง หลังจากรัฐบาลลดกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นวัยแรงงานค่อนข้างมาก มีค่าแรงขั้นต่ำในระดับที่ไม่สูง ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อต่อการผลักดันในการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในภาคอุตสาหกรรม และการบริโภคในประเทศเป็นอย่างมาก โดยสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินค้าส่งออกหลักที่มีมูลค่าเติบโตสูง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยได้รับประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ยังอยู่ในระดับสูง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น หุ้นในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และกลุ่มธนาคาร ซึ่งมีสัดส่วนน้ำหนักเป็นอันดับต้นๆ ของดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซียจึงได้รับประโยชน์จากสภาวะการลงทุนในขณะนี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top