นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงการปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นการออกแบบใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่า ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าขนาดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 200 kVA ขึ้นไป (ประมาณ 200 kW) ต้องมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ (พค.1) และแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมต่อ กกพ. และทาง กกพ. นำส่ง พพ. พิจารณาให้ความเห็นอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพื่อความปลอดภัยของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะติดตั้งนั้น
ที่ผ่านมาได้มีการยื่นคำขอใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากกว่า 150 รายต่อเดือน โดยกว่า 80% เป็นคำขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป ทำให้กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นเดิมไม่สามารถรองรับต่อปริมาณคำขอที่เพิ่มขึ้นได้ พพ.จึงปรับลดกระบวนการพิจารณา พค.2 ใหม่ให้กระชับและระยะเวลาที่เร็วขึ้นด้วยการใช้วิธีรองรับข้อมูลด้วยตนเองโดยวิศวกรที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ พพ. (Self Declaration) จากเดิมกระบวนการให้ความเห็นของ พพ. จะใช้เวลาในการตรวจแบบส่งข้อมูลและตรวจแบบด้วยการ live ณ สถานที่ติดตั้ง , ตรวจหน้างานจริง (non-solar) ซึ่งรวมระยะเวลากว่า 60 วัน โดยการปรับกระบวนการใหม่จะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ยื่นคำขอได้มีการผลิตและการใช้พลังงานที่เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการผลิตพลังงานควบคุมเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง พพ.จึงได้ออกประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ประกอบการให้ความเห็นการออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ ประกาศกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เรื่อง การรับขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม ซึ่งประกาศทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยให้เกิดความคล่องตัว และทันต่อสถานการณ์การปรับตัวต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 65)
Tags: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ, พลังงาน, อนุรักษ์พลังงาน, โซลาร์รูฟท็อป