นายเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลกระบุว่า การที่จีนไม่เต็มใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มในช่วงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นปัจจุบันนั้น กำลังเพิ่มแรงกดดันต่อสหรัฐในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
“จีนดำเนินนโยบายแบบต้านวัฏจักร (counter-cyclical) ในช่วงที่เผชิญกับขาลงทางเศรษฐกิจโลกครั้งก่อน ซึ่งหมายความว่าจีนลดอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จีนดำเนินการเช่นนั้นน้อยลงในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวคราวนี้”
นายมัลพาสส์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก
ทั้งนี้ ธนาคารโลกเตือนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า กระแสการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินในเชิงรุกอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอยในปีหน้า โดยคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นกว่า 5% ในสัปดาห์นี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กเปิดเผยการประมาณการของธนาคารโลกว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลกประจำปี 2566 จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 0.5% ขณะที่ GDP ต่อหัวมีแนวโน้มหดตัว 0.4% ซึ่งตรงเกณฑ์คำนิยามของเศรษฐกิจถดถอย
นายมัลพาสส์กล่าวว่า “เรื่องสำคัญที่แตกต่างออกไปจากเดิมคือ จีนไม่กระตือรือร้นในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนักในคราวนี้” พร้อมเสริมว่า “กรณีดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว แต่สำหรับโลกแล้ว เรื่องนี้หมายความว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกไม่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจโลกท่กนัก ดังนั้นจึงทำให้สหรัฐต้องแบกภาระเพิ่มมากขึ้น”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 65)
Tags: กระตุ้นเศรษฐกิจ, จีน, ธนาคารโลก, สหรัฐ, เดวิด มัลพาสส์