เป็นที่ทราบกันดีว่าทั่วโลกต้องเผชิญกับการเข้ามาของเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (Disruptive Technology) ทำให้เกิดความท้าทายในทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งกฎหมายมักถูกพัฒนาภายหลังจากเกิดหรือการใช้เทคโนโลยีใหม่นั้น ๆ ไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งคือกฎหมายพัฒนาไม่ทันเทคโนโลยีนั่นเอง ซึ่งหากรัฐไม่ดำเนินการใด ๆ ก็อาจจะเกิดปัญหาทางสังคมหรือเศรษฐกิจตามมาได้หรือหากรัฐปกป้องหรือป้องกันปัญหามากจนเกินไปนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็ย่อมไม่ถูกพัฒนาขึ้น
เหตุการณ์ที่ทำให้ประเด็นกฎหมายพัฒนาไม่เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างก็คือกรณี นักวิจัยหญิงที่เข้าสู่โลก Metaverse ของ Meta (หรือ Facebook เดิม) อย่าง Horizon Worlds เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้งานนั้น ถูกตัวละครอีกตัว “ข่มขืน” ตัวละครของนักวิจัยภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงหลังจากเข้าใช้งาน นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกหลายกรณีที่มีเหตุการณ์คล้ายกันจากทีมนักวิจัย เช่น ตัวละครของนักวิจัยที่เป็นเพศหญิงถูกตัวละครเพศชายสามถึงสี่ตัวรุมข่มขืน
หากเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายหรือรัฐสามารถเข้าไปจัดการได้ด้วยกฎหมาย แต่เหตุการณ์ในโลกเสมือนที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่มีมาตรฐานหรือกฎระเบียบใด ๆ ที่ชัดเจนว่าการกระทำใด ๆ นั้นเป็นความผิดแม้จะเป็นการกระทำเดียวกันกับการกระทำในโลกความเป็นจริง
ในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องยากที่จะรวบรวมหลักฐานที่เกิดขึ้นบน Metaverse ให้เพียงพอสำหรับการเอาผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศหรือความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ บน Metaverse เพราะไม่ได้มีการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของผู้เสียหายโดยตรง อาจทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับกฎหมาย ศีลธรรม และความคิดของคนทั่วไปว่าจะตีความหรือมีความเห็นไปในทางใด
การให้ความรู้และทำความเข้าใจว่า Metaverse เป็นสังคมดิจิทัลที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิต (แบบดิจิทัล) ไม่ใช่การเล่นเกมเพียงอย่างเดียวนั้น ต้องมีความเคารพซึ่งกันและกัน กฎระเบียบและอาจรวมถึงกฎหมายสำหรับอยู่ร่วมกันเหมือนโลกความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และต่างจากการเป็นตัวละครเสมือนในเกมแบบดั้งเดิมที่ผู้คนไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเป็นรูปแบบสังคม เพียงแค่เล่นตามภารกิจที่ผู้พัฒนาเกมนั้น ๆ ได้กำหนดมาแล้วซึ่งรวมถึงความรุนแรง เช่น การฆ่าหรือทำร้ายตัวละครอื่น ๆ นั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจเจ้าของตัวละครหรือสังคมโดยรวม ทำให้เกมนั้นจะไม่มีลักษณะใกล้เคียงกับการเป็นสังคมในโลกแห่งความเป็นจริงเหมือนกับโลก Metaverse
ความท้าทายในการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง เช่น Metaverse นั้น รัฐจึงควรเร่งความเร็วในการเรียนรู้หรือพัฒนากฎระเบียบหรือกฎหมายให้ใกล้เคียงกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จริงอยู่ที่ในทางทฤษฎีหรือในทางปฏิบัตินั้นไม่สามารถออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เท่าทันการพัฒนาของเทคโนโลยีได้แต่รัฐก็สามารถลดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ในอนาคตได้ด้วยการกำกับดูแลที่เหมาะสมและรวดเร็ว
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 65)
Tags: Decrypto, Metaverse, กฎหมาย, คุกคามทางเพศ, เทคโนโลยี, เมตาเวิร์ส