นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย เปิดเผยว่า โครงการหนึ่งที่ทางสมาคมฯมองว่าธุรกิจกองทุนรวมของไทยควรมีโอกาสได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการนำมาพัฒนาเป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนให้กับนักลงทุน คือ การจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ ทาง บลจ.ต่างๆสามารถจัดตั้งกองทุนรวมที่เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้โดยตรง โดยมีทีมงานที่มีประสบการณ์ ความรู้ และความเชี่ยวชาญในสินทรัพย์ดิจิทัลของ บลจ.นั้นๆ เป็นผู้บริหารจัดการพอร์ตของแต่ละกองทุนได้เอง ซึ่งปัจจุบันยอมรับว่าทีมงานคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานในบลจ.ต่างๆมีความสนใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลค่อนข้างมาก ทำให้มองว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สามารถนำความรู้และความสามารถมาใช้ช่วยในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เป็นสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ที่เป็นหนึ่งในทางเลือกที่สร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่สนใจและเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
โดยการเปิดโอกาสให้กองทุนรวมสามารถจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น จะช่วยให้คนรุ่นใหม่หันมาลงทุนผ่านกองทุนรวมมากขึ้น และสร้างความน่าสนใจในการออมเงินผ่านการลงทุนในกองทุนรวม จากการที่มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น และมีโอกาสที่ได้รับผลตอบแทนสูง ตามความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามๆไปด้วย และทำให้ บลจ.ต่างๆสามารถขยายฐานลูกค้าคนรุ่นใหม่เข้ามาได้มากขึ้นทำให้ธุรกิจ บลจ.ยังสามารถขยายการเติบโตได้ต่อเนื่อง และมีผลิตภัณฑ์กองทุนใหม่ๆออกมานำเสนอ
นางชวินดา กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไป 2 ครั้งแล้ว แต่ยังคงต้องหารือกันอย่างต่อเนื่องอีก และคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาพอสมควรกว่าจะมีความชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะไม่ทันภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจจะเป็นช่วงปี 66 น่าจะเห็นความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการพิจารณาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกอบด้วย เพราะ ธปท.ยังมีข้อกังวลในเรื่องของการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ โดยเฉพาะคริปโตเคอร์เรนซี่ที่ทำให้อาจกระทบต่อเสถียรภาพต่อค่าเงินสกุลหลักของประเทศได้ รวมถึงในเรื่องความปลอดภัยในระบบต่างๆ
“ส่วนตัวมองว่าเรื่องดิจิทัลยังเติบโตต่อไปได้ และยิ่งเห็นภาพชัดเจนของดิจิทัลหน่วยงานกำกับในหลายๆประเทศจะให้ความสำคัญและมีการปรับกฎเกณฑ์ให้สะท้อนกับความเป็นจริงตามเทรนด์ของโลกยุคใหม่ ที่เชื่อว่าในที่สุดเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องดิจิทัลได้ เห็นได้ว่าการใช้จ่ายเงินแต่ละประเทศเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลหมด เพียงแต่ตอนนี้ดิจิทัลที่เข้ามายังมีน้อยไป ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีเสถียรภาพ ถือเป็นการปูทางแบบค่อยเป็นค่อยไปสำหรับธุรกิจบลจ.ที่ทำได้
เราก็ได้มีคุยกับก.ล.ต.ไปแล้ว และได้มีการคุยกับแบงก์ชาติ แต่ทางแบงก์ชาติมีความกังวลอยู่บ้าง ที่ทำให้เกิดความผันผวนต่ออุตสาหกรรมมาก และมองว่าหากลงทุนแล้วควบคุมไม่ได้ก็ไม่ควรจะเปิดช่องให้ทั่วๆไปทำ ทางสมาคมฯจึงเสนอแนวทางว่า ถ้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. และแบงก์ชาติ อยากจะให้เกิด ทุกอย่างต้องให้มีความชัดเจน รวมถึงมูลค่าการลงทุน เส้นทางการเก็บทรัพย์สิน และสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือ เข้าใจในสินทรัพย์นี้จริงหรือไม่ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ต้องควบคุมให้ได้ หากอุตสาหกรรมมีสินทรัพย์ประเภทนี้ก็ต้องควบคุมให้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าปีนี้ยังไม่เห็นกฎระเบียบดังกล่าวจะเห็นภายในปีหน้าแทน” นางชวินดา กล่าว
นอกจากนี้ทางสมาคมฯได้มีการหารือและร่วมทำงานกับ ก.ล.ต.เรื่องของแผนขยายฐานนักลงทุนกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ให้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่อยู่ระหว่างรอเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ (กบช.) ให้เรียบร้อยก่อน โดยที่ปัจจุบันมีฐานสมาชิกของกบช.ราว 3 ล้านคน แต่มีคนไทยที่อยู่ในวัยแรงงานเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และยังต้องเร่งสร้างฐานผู้ลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เติบโตขึ้นมากกว่านี้รวมถึงฐานผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมมีเพียง 1.75 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังไม่มองเรื่องของการออมเงิน และโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการใหญ่และเร่งด่วนที่ต้องขอความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานร่วมกัน
“ตอนนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าถึง โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดผลสำเร็จภายในช่วง 3-4 ปีนี้ และอยากเห็นฐานนักลงทุนกลุ่มดังกล่าวเติบโตเพิ่มเท่าตัว” นางชวินดา กล่าว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ ESG ที่เป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องเดินหน้าให้ความสำคัญต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีเกณฑ์ให้เปิดเผยข้อมูลบริษัทภาคสมัครใจ แต่ในปี 66 จะเป็นภาคบังคับในการที่บริษัทจดทะเบียนต้องกรอกข้อมูลเกี่ยวกับ ESG โดยที่เชื่อว่าข้อมูล ESG จะมีมากขึ้นจากความสดวกในการเข้าถึง ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยดูดีขึ้น สมาคมฯจะเดินหน้าไปในทิศทางดังกล่าวตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และได้วางทิศทางของ ESG เป็นเรื่องหลักในการให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้พิจารณา และให้ความสำคัญ รวมถึงกานนำข้อมูลที่เปิดเผยออกมาทำออกมาให้เป็นรูปธรรม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ผู้จัดการกองทุนมีโอกาสที่จะใช้มากขึ้น รวมไปถึงการนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้ ESG ในประเทศไทยสามารถปฏิบัติได้จริงและเห็นเป็นรูปธรรม
“ESG ไทยรับว่าโตช้ากว่าของต่างประเทศ เพราะกฎระเบียนพึ่งเริ่มต้น และเราอยู่ในช่วงของการพัฒนา การมองของผู้จัดการกองทุนและหน่วยงานกำกับรวมถึงสมาคมฯ จะต้องจูนกันมาเจอให้หมด ส่วนระบบที่ ก.ล.ต.ให้มาแล้วทาง ตลท.ก็นำมาต่อยอด และผู้จัดการกองทุนก็นำมาใช้ หลักจากนี้มาดูว่าสิ่งที่ทำกันมานั้นตอบโจทย์และใช่อย่างที่คิดไว้หรือไม่ จึงอยากให้มาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน” นางชวินดา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 65)
Tags: AIMC, ก.ล.ต., กองทุนรวม, บลจ., บลจ.กรุงไทย, วินดา หาญรัตนกูล, สมาคมบริษัทจัดการลงทุน, สินทรัพย์ดิจิทัล