พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. ได้อนุมัติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 77 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่อัตรา 8-22 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้นต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท/วัน และเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท/วัน
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว จะประกอบด้วย 9 อัตรา คือ
- ค่าแรง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต
- ค่าแรง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- ค่าแรง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
- ค่าแรง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
- ค่าแรง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
- ค่าแรง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก
- ค่าแรง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
- ค่าแรง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร
- ค่าแรง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ครม.มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศ ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกระทรวงแรงงานเสนอ โดยสัดส่วนการขึ้นค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5% กว่าๆ ซึ่งในอดีตการปรับค่าแรงเฉลี่ยประมาณ 1-2% แต่การปรับค่าแรงครั้งนี้ ถือเป็นการรวบยอดมากถึง 5% ตามภาวะเงินเฟ้อ จากที่ปรับครั้งล่าสุดเมื่อ 1 ม.ค.63 และหลังจากนั้นไม่ได้มีการปรับค่าแรง
นายสุชาติ กล่าวว่า ฐานการขึ้นค่าแรง 5% เป็นสิ่งที่นายจ้างรับได้ ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่มากเกินไป และหากลูกจ้างอยู่รอด นายจ้างก็อยู่รอด
“การขึ้นค่าแรงเป็นไปตามกลไก ส่วนการขึ้นดอกเบี้ย หรือพลังงาน รัฐบาลก็แก้ปัญหาด้วยการลดค่าครองชีพ มันก็จะช่วยกัน…ผมเชื่อ นายจ้างทุกคนรับได้ เพราะขึ้น 5% เอง”นายสุชาติ กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังได้ขอให้สำนักงานประกันสังคมช่วยเหลือนายจ้าง โดยการลดเงินสมทบ 2% จากเดิม 5% เป็นเวลา 3 เดือน พร้อมยืนยันว่า จะไม่กระทบเงินกองทุนชราภาพ เนื่องจากจะมีการใช้มติ ครม. โยกเงินอีกส่วนมาทดแทนจำนวนเงินที่หายไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 65)
Tags: Infographic, lifestyle, ครม., ค่าแรงขั้นต่ำ, ประชุมครม., ประวิตร วงษ์สุวรรณ, มติคณะรัฐมนตรี