โบรกเกอร์ต่างแนะนำ “ซื้อ” หุ้นบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) จากการเข้าลงทุนในโครงการ Jackson ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NG) ในสหรัฐ ในสัดส่วน 49% ด้วยเงินลงทุน 410 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.49 หมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้กำลังการผลิตของ GULF จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าการซื้อหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมได้เต็มปีในปี 66 ทำให้คาดว่ากำไรไตรมาส 1/66 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง จากไตรมาส 4/65
ขณะที่ราคาหุ้น แม้มีการปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ด้วยการเข้าลงทุนดังกล่าวจะส่งผลให้มีอัพไซด์ต่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้นอีก
ราคาหุ้น GULF ปิดเที่ยงอยู่ที่ 56.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท (+1.35%) ขณะที่ ดัชนี SET บวก 0.24%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
---|---|---|
เอเซีย พลัส | ซื้อ | 65.50 |
หยวนต้า | ซื้อ | 66.00 |
ยูโอบีฯ | ซื้อ | 63.00 |
อินโนเวสท์ เอกซ์ | ซื้อ | 63.00 |
ฟินันเซีย ไซรัส | ซื้อ | 60.00 |
บัวหลวง | ซื้อ | 66.00 |
พาย | ซื้อ | 58.00 |
เอเชีย เวลท์ | ซื้อ | 56.00 |
นายเบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ กล่าวว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อการเข้าลงทุนในโครงการ Jackson เนื่องด้วย 1. เป็นโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีใหม่ หรือมีค่าความร้อนแก๊ส (Heat rate) ต่ำกว่าโรงไฟฟ้าที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกัน ทำให้มาร์จิ้นสูง 2. โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ อยู่ในทำเลที่มีซัพพลาย จากเชื่อมต่อกับท่อก๊าซฯ หลักถึง 3 เส้น ทำให้มีคอนแทคขายไฟฟ้าและสามารถจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโครงการได้ในระยะยาว 3. อยู่ในทำเลที่มีดีมานด์การใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในสหรัฐ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 13 รัฐ ได้แก่ เดลาแวร์ อิลลินอยส์ อินดิแอนา เคนทักกี แมริแลนด์ มิชิแกน นิวเจอร์ซีย์ นอร์ทแคโรไลนา โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย เทนเนสซี เวอร์จิเนีย และเขตปกครองพิเศษโคลัมเบีย เป็นต้น
อีกทั้งกลุ่ม J-Power ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ที่มีความแข็งแกร่ง ก็มองว่าจะมีแผนลงทุนร่วมกันกับ GULF อีกมาก ใน Renewable ขนาดใหญ่ในสหรัฐ หลังจากโครงการ Jackson เป็นโปรเจคแรก
โดย Consensus ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 56 บาท/หุ้น มองยังมีอัพไซด์ จากยังไม่ได้นำการลงทุนดังกล่าวเข้าไปในประมาณการ
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนะนำซื้อหุ้น GULF โดยให้ราคาเป้าหมายปี 66 ที่ 65.50 บาท เนื่องจากฝ่ายวิจัยมีมุมมองเชิงบวกต่อการเข้าลงทุนในโครงการ Jackson ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตของ GULF ให้เติบโตขึ้นอีก 7.3% ของกำลังการผลิตทั้งหมดที่มีในมือในปัจจุบัน 8.1 พันเมกะวัตต์ ไปสู่ 8.7 พันเมกะวัตต์ ในปี 70 อีกทั้งยังถือเป็นการกระจายการลงทุนของ portfolio ไปสู่ตลาดพลังงานของสหรัฐอเมริกา และช่วยให้ GULF สามารถรับรู้ผลประกอบการเข้ามาได้ทันทีหลังจากที่ดีลแล้วเสร็จ คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ในเดือนธ.ค.65
นอกจากนี้ยังถือเป็นการช่วยเปิดโอกาสการร่วมลงทุนกับกลุ่ม J-Power ที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ที่สุดของโลก มีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างศึกษา ซึ่งจะช่วยต่อยอดโอกาสในการเข้าลงทุนโครงการใหม่ๆในอนาคต
สำหรับเงินลงทุนในโครงการครั้งนี้อยู่ที่ 409.6 ล้านเหรียญฯ หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากการขายหุ้น 50% ในโรงไฟฟ้า BRK2 ประเทศเยอรมนี ราว 1.1 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือมาจากการออกหุ้นกู้ครั้งล่าสุดอีกราว 400 ล้านบาท โดยฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐาน เงินลงทุน/เมกะวัตต์ อยู่ที่ 0.7 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าการก่สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯขึ้นใหม่ที่มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ราว 1.2 ล้านเหรียญฯ/เมกะวัตต์ สัดส่วน D/E โครงการอยู่ที่ 1:1 อัตราดอกเบี้ย 4% และสมมติฐานต้นทุนก๊ซฯเฉลี่ยอยู่ที่ 7 เหรียญฯล้านบีทียู
ทั้งนี้โรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่มีกำหนดอายุสัญญาโครงการ ซึ่งผู้บริหารตั้งเป้าให้สามารถเปิดดำเนินการได้ราว 40 ปี อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานอายุโครงการในเบื้องต้นที่ 30 ปี ภายใต้หลักความระมัดระวัง ซึ่งคาดจะช่วยให้ GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโครงการดังกล่าวที่ราว 29-3 พันล้านบาท/ปี คิดเป็น EIRR ที่ 16% และประเมินมูลค่าโครงการฯ ยู่ที่ 3.5 บาท/หุ้น
ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติปี 66 เป็นต้นไป เพื่อสะท้อน 1.การรวมโครงการโรงไฟฟ้า Jackson กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 49% ที่ 588 เมกะวัตต์ ไว้ในประมาณการ 2.การปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้า BRK2 ลงเหลือ 25% จากเดิม 50% และถอดโครงการดังกล่าวออกจากงบการเงินรวม เปลี่ยนเป็นรับรู้กำไรด้วยวิธีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ส่งผลให้ GULF คาดจะรับรู้กำไรจากโครงการดังกล่าวเหลือเพียงราว 650-700 ล้านบาท/ปี จากเดิมราว 1.3-1.4 พันล้านบาท/ปี ซึ่งภายใต้ประมาณการใหม่ ส่งผลให้ กำไรปกติปี 66-67 เพิ่มขึ้น 16.0% และ 13.6% จากเดิมมาอยู่ราว 1.9 หมื่นล้านบาท และ 2.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 31.19 yoy และ 18.3%yoy ตามลำดับ
ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 66 ของ GULF อยู่ที่ 65.5 บาพ/หุ้น ซึ่งรวมโครงการ Jackson ไว้ในประมาณการแล้ว ทั้งนี้ยังมี upside ส่วนเพิ่มจากโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ถูกรวมในประมาณการอีก 2 โครงการ ได้แก่ Pak Beng ราว 1.5-2.5 บาท/หุ้น และ Pak Lay ราว 1-2 บาท/หุ้น ที่อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา PPA ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 65
ช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแล้วระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังมี upside จาก Future Value (FV) ใหม่เกือบ 16% จึงแนะนำให้หาจังหวะทยอยสะสมลงทุน รับการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว
บล.หยวนต้า ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ปรับราคาเป้าหมายสิ้นปี 66 เพิ่มขึ้นเป็น 66.00 บาท จากเดิม 59.00 บาท มี Upside gain 16.8% คงคำแนะนำ ซื้อ แม้ว่าราคาหุ้นปรับขึ้นค่อนข้างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ด้วยผลตอบแทนจากโครงการ Jackson ดีกว่าที่คาดและตลาดคาดค่อนข้างมากทำให้ PER66 ลดลงเหลือ 35.1 เท่า
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. GULF แจ้งตลาดฯ ว่าได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับ J-Power ในการซื้อหุ้นของ Jackson generation (Jackson) สัดส่วน 49% ด้วยเงินลงทุน 410 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.49 หมื่นล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 9 ก.ย.) โดย GULF จะใช้เงินลงทุนจากการขาย BKR2 ราว 1.0 หมื่นล้านบาท และเงินกู้อีกเพียง 5.0 พันล้านบาท
Jackson เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NG) เป็นเชื้อเพลิงตั้งอยู่ในเขต PJM (Pennsyvania-New Jersey-Maryland Interconnection) COD เมื่อ 5 พ.ค. ภายใต้ตลาดซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี อายุการใช้งานเหลืออีกไม่น้อยกว่า 20 ปี เป็นโรงไฟฟ้าที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่กว่าโรงไฟฟ้าในพื้นที่เดียวกัน มี Heat rate 6,400-6,800 BTUKWh เทียบกับตลาดอยู่ที่ 9,000-11,500 BTUKWh ทำให้มีส่วนต่างในการเสนอบิดได้ในราคาดีกว่าตลาด และหากราคา NG สูงขึ้นจะยิ่งมีอัตรากำไรสูงขึ้นเพราะขายไฟได้ในราคาตลาดแต่ Heat rate ต่ำกว่า
คาดกำไรต่อเกมะวัตต์ ราว 5.5 ล้านบาท/ปี โดย GULF รับรู้ผลประกอบการในรูปส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม เราคาดที่ 3.2 พันล้านบาท/ปี ณ ราคา NG ปัจจุบัน หากรวมโครงการ Jackson จะทำให้ GULF มีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 15,868 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ คือ ประเทศไทย 16,630 เมกะวัตต์, เวียดนาม 247 เมกะวัตต์, เยอรมัน465 เมกะวัตต์ และโอมาน 326 เมกะวัตต์ และสหรัฐฯ 1,200 เมกะวัตต์ หากคิดตามสัดส่วนการถือหุ้นจะอยู่ที่ 8,678 มกะวัตต์
โอกาสของการเติบโตของจำนวนเมกะวัตต์ ของ GULF นอกเหนือจากแผน PDP ไทยและเวียดนามที่มีขนาดตลาดรวมกันคาดว่าจะสูงถึง 40,000 เมกะวัตต์ ยังมีโอกาสจากประเทศในกลุ่มตะวันตกทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากมีพันธมิตรระดับโลกจำนวนมากและทั่วโลกมีแนวโน้มของการเพิ่มจำนวนโรงฟฟ้าแบบพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อลดปริมาณคาร์บอนและลดความเสี่ยงเรื่องการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไปทำให้มีโอกาสในการได้โครงการใหม่เข้ามาต่อเนื่อง
ปัจจุบัน GULF อยู่ระหว่างการเจรจาและศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพลังงานหมุนเวียน และโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ เพิ่มเติม โดยคาดว่าขนาดเมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะใกล้เคียงกับโครงการ Jackson
ทั้งนี้คาดว่าการซื้อหุ้นของ Jackson จะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมได้เต็มปีในปี 66 ทำให้คาดว่าหลังจากที่กำไรปกติไตรมาส 4/65 จะทำระดับสูงสุดใหม่แล้ว กำไรปกติในไตรมาส 1/66 จะสามารถทำกำไรสูงสุดได้ต่อเนื่อง คาดส่วนแบ่งกำไรจาก Jackson ในปี 65 ที่ 3.2 พันล้านบาท ทำให้ประมาณการกำไรปี 66 หลังภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม 16% เป็น 18,900 ล้านบาท (+30.1%YOY)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 65)
Tags: Consensus, GULF, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, หุ้นไทย