นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และกลุ่มใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค.65 โดยใช้งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นในปีงบประมาณ 65 และ 66 ในวงเงิน 9,000 ล้านบาท และมีผลทันต่อการคำนวณบิลค่าไฟช่วงสิ้นเดือนก.ย.นี้
ส่วนแนวโน้มจะช่วยเหลือผู้ใช้ไฟเกิน 4 เดือนหรือไม่นั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า จำเป็นต้องติดตามราคาก๊าซก่อน แต่สถานการณ์ตอนนี้ประมาทไม่ได้ ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ายังสูงอยู่ แต่สิ่งสำคัญ คือ การประหยัดพลังงาน
ส่วนแผนระยะยาว คือ การเพิ่มพลังงานสะอาดมากขึ้น และการหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ หรือแหล่งพลังงานในประเทศ ซึ่งจะมีการเปิดประมูลสัมปทานรอบใหม่ และการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เป็นต้น
นอกจากนี้ ครม.ยังได้เห็นชอบมาตรการต่ออายุลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก 2 เดือน จากที่จะหมดอายุวันที่ 20 ก.ย. 65 โดยรัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนที่ให้ต่ออายุมาตรการไป 2 เดือน เนื่องจากกระทรวงการคลังขอดูเรื่องวินัยการเงินการคลัง และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การเก็บภาษีว่ามีความพร้อมหรือไม่
ส่วนมาตรการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ของประชาชน อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังในการออกมาตรการทางภาษีสนับสนุนการติดตั้งของประชาชน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ครม.ได้เห็นชอบขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. – 20 พ.ย. 65 และเห็นชอบให้ขยายเวลาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตรา 0 สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.65 – 15 มี.ค.66 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงต่าง ๆ ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงต่างๆ ในตลาดโลกยังคงผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงต่างๆ ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ และต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนและภาคธุรกิจ จึงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษีไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยไม่ให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้าไม่สูงจนกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เนื่องจากน้ำมันดีเซล และไฟฟ้าเป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งของทุกภาคอุตสาหกรรม
กรมสรรพสามิต จึงเสนอปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาทและจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด แม้ว่าการปรับลดอัตราภาษีในครั้งนี้ จะส่งผลให้กรมสรรพสามิตต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนเกือบ 20,000 ล้านบาทก็ตาม
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน คาดว่าจะใช้งบประมาณ 9,128.41 ล้านบาท โดยการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 ดังนี้
1) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ให้ส่วนลดค่า Ft จำนวน 92.04 สตางค์/หน่วย
2) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วย/เดือน ซึ่งเป็นคนชั้นกลาง ให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft 75% จำนวน 51.50 สตางค์/หน่วย
3) กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 351-400 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft 45% จำนวน 30.90 สตางค์ต่อหน่วย/เดือน
4) ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 401-500 หน่วย ให้ส่วนลดค่า Ft 15% จำนวน 10.30 สตางค์/หน่วย
ส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านราคาก๊าซ LPG ประกอบด้วย ขยายระยะเวลาส่วนลดราคาก๊าซ LPG แก่ร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาท/ราย/เดือน และส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จาก 45 บาท/คน/ 3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาท/คน/ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนต.ค. – ธ.ค. 65 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มประมาณ 5.5 ล้านราย งบประมาณประมาณ 302.5 ล้านบาท
“มาตรการบรรเทาผลกระทบหลายมาตรการ จะสิ้นสุดลงในเดือนก.ย.นี้ ในขณะที่ แนวโน้มสถานการณ์ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ราคาค่าไฟฟ้า รัฐบาลจึงตั้งใจจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนทั่วไป และประชาชนที่มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง และผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมด้วย”
นายอนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 65)
Tags: lifestyle, ครม., ค่าไฟ, ค่าไฟฟ้า, ประชุมครม., ภาษีน้ำมัน, มติคณะรัฐมนตรี, สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์