ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากการสืบค้นจากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” พบโอมิครอน BA.2.75.2 จากประเทศไทยที่อัปโหลดขึ้นมาบน GISAID เพียง 1 ราย ซึ่งยังไม่สามารถคำนวณความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เปรียบเทียบกับโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่ระบาดในประเทศไทยได้ เพราะจำนวนตัวอย่าง BA.2.75.2 ในประเทศไม่มากพอ
อย่างไรก็ดี ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ มีความจำเป็นที่จะต้องแยกโอมิครอนสายพันธุ์ต่างๆ ออกจากกันให้ได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 24-48 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น BA.2, BA.4, BA.4.6, BA.5, BA.2.12.1, BA.2.75, BA.2.75.2 ฯลฯ เพราะการรักษาโควิด-19 เริ่มมีลักษณะมุ่งเป้า (precision medicine) มากขึ้นเป็นลำดับ ต่างจากการรักษาในช่วงต้นของการระบาดในปี 62 ซึ่งผู้ป่วยทุกรายรักษาเหมือนกัน (One-size-fits-all) เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเวชภัณฑ์ อาทิ วัคซีน (เข็มหลัก และเข็มกระตุ้น) ยาต้านไวรัส และแอนติบอดีสังเคราะห์ หลายประเภทมีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือรักษาไวรัสโคโรนา 2019 แต่ละสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน
ในส่วนของโอมิครอน BA.2.75.2 กลายพันธุ์มาจาก BA.2.75 ถือได้ว่าเป็นเจนเนอเรชัน 3 (3rd generation) โดยมีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 95-100 ตำแหน่งเช่นกัน แต่มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ถึง 248% เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.2.75 ที่ระบาดอยู่ในอินเดียขณะนี้ โดยพบการระบาดครั้งแรกในประเทศอินเดีย และแพร่ไปยังประเทศชิลี อังกฤษ สิงคโปร์ สเปน เยอรมนี และไทย
นอกจากนี้ โอมิครอน BA.2.75.2 มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ถึง 90% เมื่อเปรียบเทียบกับ BA.5 และ 148% และเมื่อเปรียบเทียบกับ BA.4 ที่ระบาดอยู่ทั่วโลก ทั้งนี้ BA.2.75.2 มีการกลายพันธุ์บริเวณส่วนหนาม 3 ตำแหน่งที่ต่างไปจากโอมิครอน BA.2 และ BA.2.75 คือ S:R346T, S:F486S, S:D1199N สามารถใช้เป็นตำแหน่งตรวจกรองด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม หรือการตรวจด้วย PCR
ทั้งนี้ โอมิครอน BA.2.75 เริ่มพบระบาดในอินเดียมาตั้งแต่เดือน พ.ค. 65 คิดเป็น 82.9% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ BA.2.75 โดยมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการที่ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านไม่ยอมรับคือ “เซนทอรัส (Centaurus) หรือมนุษย์ครึ่งคนครึ่งม้าในเทพนิยายกรีก” ซึ่งมีนัยถึงการกลายพันธุ์ไปมากที่สุดเมื่อเทียบกับไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อื่นที่เคยมีการระบาดมาก่อนหน้า
ขณะนี้พบว่าโอมิครอน BA.2.75 ได้มีการกลายพันธุ์ต่อเนื่อง โดยหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์ไป คือ “BA.2.75.2” ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “เซนทอรัส 2.0” เนื่องจากเป็นลูกคนที่สองของ BA.2.75 (ลูกคนแรกคือ BA.2.75.1)
ด้านผู้เชี่ยวชาญภูมิคุ้มกันวิทยา จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า โอมิครอน BA.2.75.2 เป็นสายพันธุ์ที่หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในปัจจุบัน จึงอาจก่อให้เกิดการแพร่เชื่อได้มากขึ้นไปอีกในอนาคต เป็น “The Super Contagious Omicron Subvariant”
สำหรับโอมิครอน BA.2.75 กลายพันธุ์มาจาก BA.2 ถือได้ว่าเป็นเจเนอเรชัน 2 (2nd generation) โดยมีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 95-100 ตำแหน่ง มีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) ประมาณ 37% เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นที่ระบาดอยู่ในอินเดียในปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, โควิด-19, โอมิครอน