สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 90.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.0 ในเดือนก.ค. โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยในประเทศเป็นสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ปรับตัวดีขึ้นและภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริโภคในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากความต้องสินค้าภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ขณะที่บรรยากาศการท่องเที่ยวมีสัญญาณที่ดีขึ้นหลังการยกเลิก Thailand Pass รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่สถานการณ์ความขัดแยังระหว่างรัสเซียและยูเครนยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนชิป ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์บางรุ่น เป็นปัจจัยลบต่อภาคการส่งออกของไทย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบยังมีความกังวลเกี่ยวกับตันทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากราคาวัตถุดิบ อาทิ อาหารสัตว์ เหล็กและอลูมิเนียม ค่าไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ทรงตัวในระดับสูง แม้ว่าในเดือนสิงหาคมต้นทุนด้านราคาน้ำมันจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า ดัชนีเชื่อมั่นฯ ในเดือนนี้ใกล้เคียงกับเมื่อเดือน ต.ค.62 ซึ่งคาดว่าแนวโน้มหลังจากนี้ไปจะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จาก 45 กลุ่ม มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น ส่วนปัญหาเงินเฟ้อนั้นส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 98.7 ในเดือนก.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวแบบช้าๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราจ้างขั้นต่ำ ในวันที่ 1 ต.ค.65 รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้ารอบใหม่ในช่วงเดือนก.ย. – ธ.ค. 65 จะส่งผลให้ต้นทุนประกอบการสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. คาดการณ์ว่า ส่งออกในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 8-9% จากปีก่อน แม้ขณะนี้กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนชิปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งกรณีไต้หวัน ส่งผลให้การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ชะลอตัวลง แม้จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาก็ตาม
โดย ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
1) เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขั้นค่าจ้าง ขึ้นต่ำ อาทิ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแก่ใผู้ประกอบการ SMEs, สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัญหาค่าไฟฟ้าที่มีราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากตามแผน PDP คาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าผิดพลาด ทำให้มีปริมาณสำรองอยู่ที่ 5 หมื่นเมกะวัตต์ สูงเกินความต้องการใช้ที่ระดับ 3 หมื่นเมกะวัตต์ รัฐจึงมีต้นทุนจ่ายค่าชดเชยให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเต็มกำลังการผลิต
2) อำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตมากขึ้น
นายสุชาติ จันทราชนาคราช รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานแรงงาน กล่าวว่า มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวราว 2 ล้านคน โดยก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 มีแรงงานต่างด้าว 2.9 ล้านคน แต่หลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 แล้วมีแรงงานต่างด้าวลดลงเหลือ 2.3 ล้านคน ทำให้เกิดความขาดแคลนแรงงานต่างด้าวกว่า 5 แสนคน โดยการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ยังมีปัญหาเรื่องความพร้อมเรื่องเอกสารของประเทศต้นทาง
ส่วนกรณีที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 5.02% นั้น นายสุชาติ กล่าวว่า อาจเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือ
3) ภาครัฐควรเตรียมมาตรการรับมือเพื่อป้องกันผลกระทบกรณีเกิดอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งควรมีแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำแล้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 65)
Tags: ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม, ส.อ.ท., สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, เศรษฐกิจไทย, โลจิสติกส์