
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.32 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 36.36 บาท/ดอลลาร์
เงินบาทเช้านี้ค่อนข้างทรงตัวจากเมื่อวาน ตลาดโดยรวมอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง จากความคาดหวังว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะถึงจุดพีคไปแล้ว ด้านสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ล่าสุดมีข่าวว่ายูเครนยึดพื้นที่ฝั่งตะวันออกจากรัสเซียมาได้ ส่งผลให้สกุลเงินยูโรแข็งค่า และดอลลาร์อ่อนค่า ด้านสกุลเงินภูมิภาคส่วนใหญ่แข็งค่า
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.15 – 36.35 บาท/ดอลลาร์ โดยคืนนี้มีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ
THAI BAHT FIX 3M (12 ก.ย.) อยู่ที่ระดับ 0.78498% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.93400%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 142.64 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 142.59 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0129 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0162 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.434 บาท/ดอลลาร์
- “ททท.” กังวลสถานการณ์น้ำท่วม กระทบบรรยากาศการท่องเที่ยว เริ่มเห็นสัญญาณคนไทยเลิกเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มอบรมสัมมนา เผยคนเลื่อนเที่ยวกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี หัวหิน ชะอำ หวั่นฝนตกนานติดต่อกัน จะกระทบการเดินทางในไตรมาส 3 แต่ยังตั้งเป้ารายได้จากคนกลุ่มนี้ในปีนี้ 656,000 ล้านบาท
- โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดรับลงทะเบียนโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ว่า ณ เวลา 15.00 น. วันที่ 12 ก.ย. มีประชาชนลงทะเบียน 10,416,889 ราย โดยลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ 7,366,170 ราย ลงทะเบียนผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียน 3,050,719 ราย
- บ.วายแอลจี (YLG) คาดทองคำปรับตัวลงต่อ หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแบบไม่แผ่ว มองเป็นโอกาส “ทยอยซื้อ” สำหรับผู้ต้องการถือยาว ส่วนนักลงทุนระยะสั้นยังมีจังหวะเก็งกำไรได้ หลังราคาทองคำยังไม่หลุดโลว์เดิมที่ 1,680-1,676 เหรียญฯ มองแนวต้านที่ 1,734-1,765 เหรียญฯ ส่วนทองไทยเคลื่อนไหวที่ 29,500-30,000 บาท
- ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (12 ก.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมเดือนนี้
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (12 ก.ย.) เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อทองคำ ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันนี้
- นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนี CPI เดือนส.ค.จะปรับตัวขึ้น 8.1% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 8.5% ในเดือนก.ค. ซึ่งทำให้ตลาดมีความหวังว่าข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยลงในการประชุมเดือนก.ย. และด้วยมุมมองดังกล่าวทำให้นักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยผลสำรวจพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐสำหรับระยะเวลา 1 ปีและ 3 ปีข้างหน้าได้ลดลงอย่างมากในเดือนส.ค. ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อดังกล่าวบ่งชี้ความสำเร็จของเฟดในการสกัดการพุ่งขึ้นของคาดการณ์เงินเฟ้อ
- นักลงทุนเพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนนี้ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 10% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
- เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟดตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย. ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของเฟด อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เจ้าหน้าที่เฟดได้รับอนุญาตให้แสดงความเห็นก่อนหน้านี้ ต่างก็ได้ส่งสัญญาณบ่งชี้ว่าเฟดจะยังคงเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
- ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดค้าปลีกเดือนส.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.ย.จากเฟดนิวยอร์ก, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนส.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท