ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเริ่มมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง และจะกลับมาใกล้กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2566 เนื่องจากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เริ่มชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แม้เงินเฟ้อจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะถัดไป แต่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงจากหลายปัจจัย เนื่องจากราคาพลังงานที่ยังสูง การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการที่จะมีมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนปุ๋ยที่สูงขึ้น นโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย และปัจจัยฐานราคา LPG และค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการขาดแคลนแรงงานต่างชาติ และการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำปลายปีนี้ ที่จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตในวงกว้าง
“EIC ประเมินว่า การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5% ทั่วประเทศตั้งแต่ตุลาคมนี้ จะส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีหน้าเพิ่มขึ้นราว 0.2%” บทวิเคราะห์ระบุ
SCB EIC ยังระบุว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูงมีผลกดดันให้การบริโภคครัวเรือน และรายได้ที่แท้จริงปรับลดลง ตอกย้ำปัญหา “ของแพง ค่าแรงถูก” ในสังคมไทย ทำให้ภาคครัวเรือนในบางส่วนจำเป็นต้องลดหรือชะลอการใช้จ่าย นำสภาพคล่องที่มีอยู่ออกมาใช้ หรือก่อหนี้ใหม่ โดยเฉพาะจากปัญหาราคาพลังงานและอาหารที่คาดว่ายังอยู่ในระดับสูง ยิ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานสูงถึง 53% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ EIC ที่พบว่าราว 60% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องเผชิญปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย, โดย 77% ประสบปัญหาการออมลดลงหรือเก็บออมไม่ได้เลย และ 44% เชื่อว่ารายจ่ายจะเพิ่มในอัตราที่มากกว่ารายได้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า สะท้อนถึงแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระดับมหภาค ทั้งจากการบริโภคภาคเอกชนที่หายไป สถานะทางการเงินที่เปราะบางมากขึ้น และซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เดิมอยู่สูงถึง เกือบ 90% ของ GDP ณ สิ้น ไตรมาสแรกของปี 2565
ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องและรวดเร็วเช่นนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดสำหรับภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง ได้แก่ มาตรการเร่งด่วนและเจาะจง เช่น การลดหนี้ การให้เงินช่วยเหลือ การเพิ่มสิทธิสวัสดิการ พร้อมเพิ่มความสามารถในการหารายได้ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง เช่น สินเชื้อดอกเบี้ยต่ำ ที่มีเงื่อนไขการผ่อนชำระที่สอดคล้องกับระดับรายได้ การลดค่าครองชีพในสินค้าและบริการจำเป็น รวมถึงช่วยเหลือในรูปแบบเงินโอน และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อสำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยเน้นการใช้จ่ายกับผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศ
นอกจากนี้ ภาครัฐควรออกนโยบายเกี่ยวกับการแก้หนี้นอกระบบเพิ่มเติม ทั้งการป้องกันไม่ให้ประชาชนพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น และการดึงหนี้นอกระบบให้กลับเข้าสู่ในระบบ ซึ่งภาระดอกเบี้ยถูกกว่า เพื่อช่วยให้ครัวเรือนไทยปลดหนี้ได้อย่างยั่งยืน
SCB EIC เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญกับปัญหาของแพงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง และประเมินว่าเงินเฟ้ออาจจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ไม่เร็วนัก จากราคาพลังงานและอาหารที่ยังสูง และการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตที่มากขึ้น กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านการบริโภคและการลงทุน ทำให้เป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายที่จะควบคุมเงินเฟ้อไทยในระยะถัดไป ทั้งจากปัจจัยอุปทานที่ยังมีอยู่ และอุปสงค์ที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“สะท้อนว่าจริง ๆ แล้ว เราอาจจะเพิ่งรู้ตัวว่ารู้จักเงินเฟ้อน้อยเกินไป ดังเช่นที่นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ กล่าวไว้ในงาน the European Central Bank (ECB) Forum ช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า “We now understand better how little we understand about inflation.”
บทวิเคราะห์ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 65)
Tags: ค่าครองชีพ, ค่าแรงขั้นต่ำ, ธนาคารไทยพาณิชย์, เงินเฟ้อ