กอบศักดิ์ แนะเกาะติด 7 ปัจจัยตปท. อาจส่งผลกระทบค่าเงินบาท-ส่งออกไทย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวอภิปราย เรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจและพลังงานโลก ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2022 ว่า มองการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 66 จะขยายตัวได้ 3-4% จากปี 65 ที่คาดขยายตัวได้ราว 3% โดยจะมีเรื่องที่ต้องติดตาม ด้วยกัน 7 เรื่องจากต่างประเทศ คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างประเทศเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐ รัสเซีย และจีน 2.การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางต่างๆ 3.การลดลงของเงินเฟ้อโลก 4.การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ 5.การเริ่มของ Global Recessions 6.การอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะชัดเจนขึ้น 7.การก่อตัวของ Emerging Market Crisis

ทั้งนี้สิ่งที่จะกระทบกับผู้ประกอบการในช่วงต่อไป คือ โอกาสของการส่งออกที่จะน้อยลงจากเดิม, ต้นทุนสินค้าที่จะยังผันผวนไปอีกระยะ, ค่าเงินโลกจะยังคงผันผวนและค่าเงินบาทที่จะมีแรงกดดันไปอีกระยะ, ผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนเมื่อวิกฤตจีนลุกลาม, วิกฤต Emerging Market จะมีหางเลขกระทบมาไทยช่วงหนึ่งเช่นกัน, การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปของ ธปท. มองว่า สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.25% และหลังจากนั้นจะรอดูความชัดเจนของภาพเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศว่าจะเป็นอย่างไร โดยในปี 66 มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของธปท. จะเป็นไปด้วยความระมัดระวัง และจำกัด โดยอาจจะขึ้นได้เพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น และธปท.จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยช่วงกลางปี 66 จาก recessions ในหลายประเทศทั่วโลก ที่จะขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อที่พุ่งสูง

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันในระยะถัดไปคาดจะอ่อนตัวลง ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ลุกลามบานปลาย, Geopolitics ระหว่างสหรัฐและจีนที่ลุกลามบานปลายขึ้นจากสงครามการค้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top