นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังได้ร่วมคณะนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เยือนมองโกเลีย เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) และประชุมคณะกรรมการร่วมการค้า JTC ไทย-มองโกเลีย JTC ครั้งแรก เมื่อต้นเดือนก.ย.65 ว่า กรมฯ มีแผนเดินหน้าจัดตั้ง JTC กับตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา และตะวันออกกลาง ที่ไทยเห็นศักยภาพในการขยายการค้าการลงทุน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีเวทีหารือระดับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ที่จะกำหนดเป้าหมายทางการค้า และจัดทำแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ดังนั้น กรมฯ จึงจะต้องเร่งเดินหน้าหารือกับประเทศกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และอียิปต์ เพื่อจัดตั้ง JTC ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565-2566
นางอรมน กล่าวว่า ประเทศตลาดใหม่ในแอฟริกา และตะวันออกกลาง ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพสามารถเติบโตได้ดี เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากและมีกำลังซื้อสูง ซึ่งนอกจากจะเป็นตลาดรองรับการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ยังเป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบการผลิตและพลังงานที่สำคัญของไทยอีกด้วย อีกทั้งยังมีทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ สามารถพัฒนาไปเป็นจุดกระจายสินค้าได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่จะเอื้อต่อการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต และการส่งออกของไทยกับภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาในอนาคต
ปัจจุบัน ไทยมี JTC กับประเทศสมาชิกอาเซียน และเวทีหารือสองฝ่ายระหว่างระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยกับคู่ค้าสำคัญ รวม 32 เวที เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ไทยมีแผนจะเป็นเจ้าภาพการประชุม JTC กับ 10 ประเทศคู่ค้า เช่น แอฟริกาใต้ มัลดีฟส์ อินเดีย อิสราเอล สิงคโปร์ กัมพูชา และอินโดนีเซีย เป็นต้น รวมทั้งเข้าร่วมการประชุม JTC ที่ประเทศคู่ค้าจะเป็นเจ้าภาพ เช่น บังกลาเทศ โมร็อกโก ภูฏาน และมาเลเซีย เป็นต้น
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุปเวที JTC ที่มีอยู่แล้วในภูมิภาคแอฟริกา มี 5 ประเทศ คือ โมร็อกโก ตูนิเซีย แอฟริกาใต้ โมซัมบิก และเคนยา ส่วนที่กำลังจัดตั้ง คือ อียิปต์ อย่างไรก็ดี โมร็อกโก และเคนยา ยังไม่เคยมีการจัดประชุมในระดับรัฐมนตรี กรมฯ จึงอยู่ระหว่างหารือกับประเทศเหล่านั้น เพื่อจัดการประชุม JTC และทำแผนความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและแก้ปัญหาทางการค้าและการลงทุน ส่วนเวที JTC ที่มีในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีกับ 4 ประเทศ คือ อิรัก อิหร่าน บาห์เรน และอิสราเอล และที่กำลังจัดตั้งเพิ่ม คือ ซาอุดีอาระเบีย และ UAE
ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง มีมูลค่า 43.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.40 ล้านล้านบาท) โดยเป็นการส่งออกจากไทย มูลค่า 15.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ (0.5 ล้านล้านบาท) และไทยนำเข้า มูลค่า 28.07 พันล้านเหรียญสหรัฐ (0.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 46.32% จากปีก่อนหน้า คิดเป็น 8.15% ของการค้ารวมของไทย
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ข้าว เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่นๆ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และเคมีภัณฑ์ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 65 การค้ารวมมีมูลค่า 37.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.25 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 58.28%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 65)
Tags: JTC, กระทรวงพาณิชย์, กำลังซื้อ, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม