นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันอังคารที่ 13 ก.ย.นี้ โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายในการบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI อาจเพิ่มขึ้นแตะ 8.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอลงเมื่อเทียบกับระดับ 8.5% ในเดือนก.ค.
ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 90% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย.นี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 57% ในสัปดาห์ก่อน
การเพิ่มน้ำหนักคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟดมีขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคบริการที่แข็งแกร่ง โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.9 ในเดือนส.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 55.5 จากระดับ 56.7 ในเดือนก.ค. ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของ ISM ประกอบด้วยอุตสาหกรรม 17 กลุ่ม ซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง การก่อสร้าง และเหมืองแร่
ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวสุนทรพจน์ที่สถาบันคาโตเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เฟดมีความมุ่งมั่น “อย่างแรงกล้า” ในการควบคุมเงินเฟ้อ และเฟดหวังว่าการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจะไม่ทำให้เกิดต้นทุนทางสังคมที่สูงเกินไป
นอกจากนี้ นายพาวเวลระบุว่า การยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ย. 65)
Tags: ดัชนีราคาผู้บริโภค, เงินเฟ้อ, เงินเฟ้อสหรัฐ