UNDP จัดไทยอยู่ในกลุ่มพัฒนามนุษย์ระดับสูงมากต่อเนื่อง 3 ปี

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ(UN) ได้เผยแพร่รายงานการพัฒนาของมนุษย์ (Human Development Report) ปี 2021/2022 ซึ่งมีสาระสำคัญระบุถึงสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่กระทบต่อการพัฒนาของมนุษย์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญกับโรคระบาด ผลจากสงครามที่กระทบต่อราคาน้ำมันและค่าครองชีพ ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับมีข้อเสนอแนะต่อประเทศต่างๆ ในการกำหนดนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในสถานการณ์ความไม่แน่นอน

พร้อมกันนี้ ในรายงานได้จัดทำดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ซึ่งเป็นดัชนีวัดความสำเร็จโดยเฉลี่ยของแต่ละประเทศในการพัฒนามนุษย์ โดยรายงานระบุถึง HDI ของไทยในปี 2021 อยู่ที่ 0.800 อยู่ในลำดับที่ 66 จาก 191 ประเทศทั่วโลก จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก และอยู่ในประเทศกลุ่มนี้ต่อเนื่องมา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2019 หรือ พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หากพิจารณาเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนมี 4 ประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก ได้แก่ สิงคโปร์ (0.939) บรูไน(0.829) มาเลเซีย(0.803) และไทย (0.800) ประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูง มี 2 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย(0.705) เวียดนาม(0.703) และประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับกลาง มี 4 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์(0.699) สปป.ลาว(0.607) และเมียนมา(0.585)

ทั้งนี้ HDI จะวัดความสำเร็จโดยเฉลี่ยของแต่ละประเทศในการพัฒนามนุษย์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความรู้ และด้านการครองชีพ แบ่งระดับการพัฒนาเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งในปี 2021 ใน 191 ประเทศทั่วโลก จัดอยู่ในแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีการพัฒนาสูงมาก (ดัชนี 0.800-1.000) จำนวน 66 ประเทศ, พัฒนาสูง (ดัชนี 0.700-0.799) จำนวน 49 ประเทศ, พัฒนาระดับกลาง (ดัชนี 0.550-0.699) จำนวน 44 ประเทศ และ พัฒนาต่ำ (ดัชนี 0.350-0.549) จำนวน 32 ประเทศ

“การที่ประเทศไทยมีผลการพัฒนามนุษย์อยู่ในระดับสูงมากได้ต่อเนื่อง สะท้อนถึงความสำเร็จในการผลักดันนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งจะยังคงขับเคลื่อนโดยรับฟังข้อแนะนำขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNDP มาปรับใช้ และเดินหน้าตามแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนแม่บทฉบับต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ โดยมีเป้าหมายหลักคือการพัฒนาและยกดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นต่อเนื่อง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ย. 65)

Tags: ,
Back to Top