นายนุวัต หนูขวัญ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวในงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 4/65 เรื่อง “เจาะลึกเงินเฟ้อไทยผ่านข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อย” ว่า การดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงและผันผวนจนเกินไปมีความสำคัญมากต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายจึงจำเป็นต้องเข้าใจที่มา และลักษณะของพลวัตเงินเฟ้อไทยเพื่อให้สามารถตัดสินนโยบายได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากเงินเฟ้อประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการจำนวนมาก
หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อโลกอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพมาตลอดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศได้เริ่มเร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 64 ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากประมาณ 1% เป็น 9% ภายในเวลา 1 ปี หรือแม้แต่ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย ที่อัตราเงินเฟ้อเดือนล่าสุด (ก.ค. 65) นั้นสูงถึง 7.61% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 14 ปี
สถานการณ์ดังกล่าวย่อมสร้างความท้าทายให้กับผู้ดำเนินนโยบาย เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ธนาคารกลางในหลายประเทศจึงเริ่มปรับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นเพื่อชะลอการเร่งตัวของราคาสินค้าและบริการ
นายนุวัต กล่าวอีกว่า การทำความเข้าใจสถานการณ์เงินเฟ้อในไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาและลักษณะของพลวัตเงินเฟ้อ ดังนั้น บทความนี้จึงมุ่งศึกษาพลวัตเงินเฟ้อไทยผ่านมุมมองเชิงจุลภาค โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อยนับร้อยรายการที่จัดเก็บโดยกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อไทยในเชิงลึก รวมถึงนัยที่มีต่อการดำเนินนโยบายการเงิน
การศึกษานี้ต่างจากในอดีตที่มักวิเคราะห์เงินเฟ้อไทยผ่านแบบจำลองและข้อมูลทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขรวมที่ไม่สามารถสะท้อนพัฒนาการสำคัญที่เกิดขึ้นในสินค้าและบริการแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกันได้
โดยจากการศึกษาพบว่า ความผันผวนของเงินเฟ้อไทยสูงถึง 85% ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเฉพาะที่กระทบสินค้าในหมวดพลังงาน เช่น น้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งสะท้อนสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงของไทย ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีความผันผวนสูง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อไทยเป็นปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ขณะที่ 15% มาจากปัจจัยด้านมหภาค
ด้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองปัจจัยเฉพาะเป็นหลัก และพบว่ายังไม่ได้กระจายในวงกว้าง แต่หากมองปัจจัยรวมด้านอุปสงค์ยังน้อย ทำให้ไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและปรับขึ้นแรง ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามทั้งเงินเฟ้อระยะสั้น และระยะปานกลาง คือ 5-10 ปี โดยปัจจุบันพบว่าเงินเฟ้อระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมาย
“เงินเฟ้อติดตามอยู่ตลอดโดยบางช่วงปรับสูงขึ้นบ้างตามที่เกิดขึ้นจริง แต่ที่สำคัญ คือ เงินเฟ้อคาดการณ์ เพราะจะเป็นตัวสะท้อนว่าเงินเฟ้อในระยะยาวจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของนโยบายการเงิน” นายนุวัต กล่าว
สำหรับนโยบายที่เหมาะสมที่มองว่าเป็นแนวทางที่ดีในการนำมาใช้ ได้แก่ มาตรการภาครัฐที่มีความสามารถจัดการปัญหาเฉพาะจุดได้มากกว่านโยบายการเงิน แต่หากเงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะมีความรุนแรงมากขึ้น และกระทบต่อค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต หรือกระทบมากขึ้นในวงกว้าง และนำไปสู่การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะข้างหน้าว่าจะสูงขึ้น จะนำมาซึ่งการต่อรองการขึ้นค่าจ้าง และราคาสินค้า ดังนั้นสิ่งสำคัญคือดูแลไม่ให้เงินเฟ้อคาดการณ์ได้รับผลกระทบ
มาตรการภาครัฐยังไม่สามารถตอบได้ว่าเพียงพอหรือไม่ แต่การทำนโยบายเฉพาะจุด ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ การดูแลราคาน้ำมันผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทุกอย่างล้วนมีต้นทุนในระยะยาว ซึ่งการดำเนินการจะต้องทำในเวลาที่เหมาะสม และต้องถอนมาตรการในเวลาที่เหมาะสมเช่นกัน ขณะที่ราคาอาหารบางส่วนที่มีการปรับขึ้น สะท้อนถึงค่าครองชีพสูง สิ่งที่จะบรรเทาได้คือการปรับขึ้นค่าจ้างค่าแรง เพื่อให้คนมีอำนาจซื้อกลับมา
นางสาวพิม มโนพิโมกษ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ปรับขึ้นจากน้ำมันโลกที่สูง แต่ปรับขึ้นเพราะความต้องการ หรือ Demand ที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่ในปี 66 มองว่าจะมีความร้อนแรงขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เริ่มเข้ามามาก ประกอบกับนโยบายการเงินจะต้องใช้เวลาในการส่งผ่าน ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้จะทำให้เมื่อความต้องการกลับมาเงินเฟ้อจะไม่ไปไกลกว่านี้ และมองว่าปัจจัยในเรื่องของน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง จะสามารถคลี่คลายลงได้เองจากกลไกของตลาดที่ทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่าง Demand และ Supply
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาว ยังคงยึดอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 2% ส่วนระยะสั้นเงินเฟ้อยังคงผันผวนและไปกับปัจจัยต้นทุนต่างๆ เช่น การบริโภคภาคครัวเรือน ที่ปัจจัยระยะสั้นจะมีความสอดคล้องไปตามราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้การบริโภคของครัวเรือนมีการจับจ่ายในมูลค่าที่สูงขึ้น แต่อาจจะมีการปรับปริมาณการบริโภคลง เป็นต้น รวมถึงปัจจัยระยะสั้นอื่นๆ ซึ่งยอมรับว่าปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนที่ทำให้เกิดความผันผวนอยู่มาก ทำให้เงินเฟ้อจึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามทั้งระยะสั้นและระยะยาว
นายชัยธัช จิโรภาส เจ้าหน้าที่ลงทุนอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำรอง ธปท. กล่าวว่า ในบริบทของไทยที่มีปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายการเงินจึงมีความท้าทาย เพราะปัจจัยเฉพาะเหล่านี้มักมีความผันผวนสูงและเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่นโยบายการเงินไม่สามารถควบคุมได้ โดยผู้ดำเนินนโยบายควรมองผ่านความผันผวนระยะสั้นเหล่านี้ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวของเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ แต่หากปัจจัยเฉพาะมีความรุนแรงและยืดเยื้อขึ้น ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 65)
Tags: นุวัต หนูขวัญ, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, เงินเฟ้อ