4 รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม, นายวิศณุ ทรัพย์สมพล น.ส.ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ ร่วมแถลงผลการดำเนินการในช่วง 99 วันที่ผ่านมา ในหัวข้อ “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ระบุถึงการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ
ปัญหาน้ำท่วม
ปัญหาใหญ่ของคนกรุง โดยที่ผ่านมา กทม. ได้มีการบริหารจัดการน้ำท่วมในปัจจุบันด้วยการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ นอกจากนี้ ได้มีการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,358 กม. และได้มีการขุดลอก 32 คลองเพื่อเปิดทางน้ำไหล 1,665 กม.
สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา กทม. ได้จัดเรียงกระสอบทรายแนวฟันหลอ 3.12 ม. การก่อสร้างถาวร 1.5 ก.จาก 3.1 กม. และอยู่ระหว่างขอความร่วมมือ 1.41 กม.
ทั้งนี้ กทม. ได้มีแผนเตรียมพร้อมรับมือในช่วงที่ฝนตกหนัก โดยวานนี้ได้มีการลงพื้นที่ดูระดับน้ำในคลอง ขณะนี้น้ำเริ่มเต็มในหลายๆ คลอง ซึ่งทุกเขตที่อยู่ในพื้นที่จุดเสี่ยงได้เตรียมกำลังเต็มที่ ซึ่งกทม. พร้อมบูรณาการกับสำนักงานส่วนกลางทุกแห่งเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น วานนี้ได้มีการเตรียมรถทหารเพื่อขนคนบนถนนสายหลัก เป็นต้น
ปัญหาจราจร
ในส่วนกรณีราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในสภา กทม. ฝ่ายบริหารได้เสนอราคาส่วนต่อขยายที่ 15 บาท ในส่วนของส่วนต่อขยาย 1-2 เพื่อให้สะดวกและไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไป อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเก็บที่ราคา 15 บาท กทม. ยังต้องให้เงินอุดหนุนส่วนต่าง เนื่องจากรายรับ 15 บาท ยังไม่สูงพอรวมแล้วแค่ 1,000 กว่าล้านบาท แต่รายจ่าย 5,600 ล้านบาท สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2
ดังนั้น ต้องให้สภาให้ความเห็นว่าเห็นด้วยกับค่าโดยสารที่เสนอไปหรือไม่ และหากสภาเห็นด้วยกับค่าโดยสาร 15 บาท จะมีการแจ้งประชาชนต่อไป อย่างไรก็ดี ต้องใช้เวลาในการแจ้งให้ผู้บริการปรับระบบหลังบ้านด้วย ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 1 เดือน
ในส่วนของสัมปทาน ได้นำส่งความเห็นต่อสภากทม.แล้ว คาดว่าจะประชุมสภากทม.ในสัปดาห์หน้า เพื่อนำความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินการการปรับปรุงทางม้าลายแล้ว 1,286 จุด จาก 2,788 จุด มีระบบ CCTV , การคืนพื้นผิวจราจร โดยคืนแล้ว 2 จาก 14 โครงการ โดยในปี 65 เพิ่ม 5 โครงการ และปี 66 เพิ่ม 7 โครงการ นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงจาก 100 จุด ดำเนินการแล้ว 2 จุด เตรียมการปรับปรุง 54 จุด และวิเคราะห์เพิ่มอีก 44 จุด ภายในปี 65
ขณะเดียวกัน กทม. ยังได้ช่วยดำเนินการนำสายสื่อสารลงดิน แล้วเสร็จ 62 กม. ปี 65 จะแล้วเสร็จ 74 กม. ปี 68 จะแล้วเสร็จ 174 กม. และจัดระเบียบสายสื่อสาร ปัจจุบันแล้วเสร็จ 79.62 กม. จาก 1,000 กม.
“สิ่งที่จะเดินหน้าต่อไป คือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การแก้ปัญหาจราจร และที่สำคัญ คือ ต้องมีการบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”
นายวิศณุ กล่าว
ด้านสิ่งแวดล้อม
นายจักกพันธุ์ กล่าวถึงการดำเนินการรพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 3 เรื่อง ได้แก่
1. จุดทำการค้า (หาบเร่-แผงลอย) โดยได้มีการหาพื้นที่ให้แก่ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย มีการทำฐานข้อมูลและการลงทะเบียนผู้ค้า การสร้างความมั่นคง (แหล่งทุน) และพัฒนาศักยภาพผู้ค้า พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การค้าขายให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ให้เหมาะสม ประกอบด้วยทุกภาคส่วนเน้นการกระจายอำนาจเพื่อบริหารจัดการคล่องตัวยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย การมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และให้กทม. เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุด
สำหรับจุดทำการค้า มีพื้นที่ทำการค้า 95 จุด ผู้ค้า 6,048 ราย โดยประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด 3,817 อยู่ระหว่างประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,602 ราย และเสนอขอทบทวนเจ้าพนักงานจราจร 9 จุด ผู้ค้า 629 ราย ทั้งนี้ มีแผนการจัดระเบียบผู้ค้าและปรับปรุงแผงค้าในพื้นที่ทำการค้าของ กทม. ทั้งหมด 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ก.ย.-พ.ย. 65) 17 จุด ระยะที่ 2 (ธ.ค. 65-ก.พ. 66) 29 จุด และระยะที่ 3 (มี.ค.-พ.ค. 66) 26 จุด
2. สวน 15 นาที ทั่วกรุง หรือสวนสาธารณะที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะการเดินประมาณ 800 ม. จากละแวกบ้าน โดยมีพื้นที่นำร่อง เช่น ที่ดินเอกชน สุขเวชชวนารมย์ เขตราษฎร์บูรณะ ที่ว่างริมคลอง คลองเป้ง เขตวัฒนา และที่ดินราชพัสดุ สวนป่าสัก เขตจตุจักร เป็นต้น
3. นโยบายด้านการจัดการขยะ โดยมุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า และสร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร
สำหรับโครงการลดและคัดแยกขยะตามประเภทแหล่งกำเนิด ปี 65 มีชุมชนและองค์กรที่เข้าร่วม 998 แห่ง ดำเนินการแล้ว 925 แห่ง ทำให้ขยะลดลง 35-60% ภาพรวมลดลง เฉลี่ย 25% โดยชุมชน ขยะลด 60% โรงเรียน ขยะลด 93.59% และงานกิจกรรม ขยะลด 37.75% ซึ่งสามารถประหยัดเงิน 85,400 บาท/วัน โดยในปี 67-69 จะขยายผลกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 100% ทั้งนี้ ในปี 66 มีเป้าหมายเพิ่มประเภทละ 1 แห่ง / เดือน / เขต 3,600 แห่ง
ส่วนการสร้างต้นแบบการแยกขยะ ระยะที่ 1 นำร่องเก็บขยะแยกประเภท 3 เส้นทาง (ก.ย.-ต.ค. 65) ระยะที่ 2 ขยายผลทุกเส้นทางในระดับแขวง (พ.ย.-ธ.ค. 65) และระยะที่ 3 ขยายผลทุกเส้นทางในพื้นที่เขต (ม.ค.-มี.ค. 66) โดยในปี 65 นำร่องเขตปทุมวัน พญาไท และหนองแขม ส่วนในปี 66 ขยายผล 47 เขต เขตละ 3 เส้นทาง ระดับแขวง *เมืองน่าอยู่
นายศานนท์ กล่าวว่า กทม. ได้มีการดำเนินการเพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่ โดยได้สร้างเมืองมีชีวิตให้ทุกคนมาใช้ชีวิต ด้วยการจัดกิจกรรมดนตรีในสวน และเทศกาล 12 เดือน และดึงอัตลักษณ์ย่าน เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง นำร่อง 11 ย่าน และจัดถนนคนเดิน 39 แห่ง ใน 50 เขต มีทั้งหมด 1,855 ร้านค้า สร้างเศรษฐกิจกว่า 28.6 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้ทำการยกระดับสวัสดิการคนพิการ คนไร้บ้าน ไม่ไร้สิทธิ โดยการเปิดพื้นที่บริการเฉพาะกิจ 4 จุด มีคนไร้บ้านมาใช้บริการ 150-250 คน/จุด/วัน ขณะเดียวกัน กทม. ได้จ้างงานคนพิการเพิ่ม พร้อมพัฒนาคุณภาพให้คนพิการร่วมกับ Vulcan Coalition และสนับสนุนอาชีพและเปิดพื้นที่ให้คนพิการได้แสดงศักยภาพ
นายศานนท์ กล่าวว่า กทม. ยังได้เปิดกรุงเทพฯ เปิดข้อมูล เปิดการมีส่วนร่วม โดยได้เปิดเผยข้อมูลร่างงบประมาณ ปี 66, Executive Order คำสั่งเปิดเผยข้อมูล ภายใน 90 วัน, Data Literacy Training อบรมการเปิดเผยข้อมูลกับข้าราชการ, แพลตฟอร์มปลูกต้นไม้ล้านต้น และ Hack BKK (Open Innovation) เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ เด็ก และเยาวชนด้วย
สำหรับไทม์ไลน์แผนการดำเนินงานหลังจากนี้ คือ ในเดือน ต.ค. กทม. จะเข้าร่วม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox), เปิดข้อมูลชุดแรกของ Open Data, เปิดเผยสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง (Open Contract) และเปิดตัว Open Innovation Lab (Oi! Bangkok)
ส่วนเดือน พ.ย. จะเปิดพื้นที่สาธารณะนำร่องเพื่องานศิลปวัฒนธรรม, จ้างงานอาสาเทคโนโลยี (อสท.) และ BKK Food Bank นำร่อง 10 เขต และในเดือน ธ.ค. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้ง Wifi โรงเรียน ลานกีฬา และบ้านหนังสือ ส่วนในปี 66 จะเน้นเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์กรุงเทพฯ (Made in Bangkok: MIB) งานพัฒนาที่อยู่อาศัย และงานพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก
ด้าน น.ส.ทวิดา เปิดเผยว่า ได้มีการดำเนินการให้กรุงเทพดีขึ้น ด้วย 3 ดี ได้แก่
1. ปลอดภัยดี ในส่วนของฐานข้อมูล ได้มีการพัฒนาข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย โดยจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงกรุงเทพมหานคร (BKK RISK MAP), นำเข้าข้อมูลตำแหน่งหัวจ่ายดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ลงฐานข้อมูลระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MIS) และกิจกรรมทำฐานข้อมูลบัญชีวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการเผชิญเหตุ
ในส่วนของทรัพยากร ได้มีการพัฒนาระบบป้องกันสาธารณภัย เพิ่มประปาหัวแดงโดยเฉพาะเขตที่อยู่หนาแน่น, พัฒนาบัญชีอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินระดับย่าน และปรับปรุงและบำรุงอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย
2. สุขภาพดี คือ มีระบบการจัดการโรคติดต่อ (โควิด-19), ศูนย์บริการบัตรคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ 9 ที่, คลินิกหลากหลายทางเพศ (BANGKOK PRIDE CLINIC) และระบบแซนด์บ๊อกซ์ สุขภาพปฐมภูมิ
3. บริหารจัดการดี ได้แก่ ระบบบริการ (SMART SERVICE) และคำขอออนไลน์ (BKK OSS) เพิ่ม 4 บริการงานทะเบียน 4 แบบฟอร์มออนไลน์, หลักเกณฑ์การคัดเลือกคนพิการเข้ารับราชการ กระบวนการสรรหาและบรรจุ (ต.ค.-พ.ย.), เพิ่มสวัสดิการครูและพนักงานเก็บและขนขยะ ทบทวนสวัสดิการและรูปแบบการจ้าง จัดทำร่างข้อบัญญัติเงินรางวัลประจำปี และสนับสนุนความเท่าเทียม ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ประกาศนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติทางเพศ และการป้องกันการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศในการทำงาน
สำหรับ 99 วัน หลังจากนี้ กทม. จะมีการบูรณาการ BKK RISK MAP และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ , การดำเนินการเตียงพักรอในศูนย์บริการสาธารณสุข 6 โซนเขต เชื่อมต่อและขยายบริการศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ เพิ่มและเชื่อมต่อ SAND BOX ปฐมภูมิ (โซนเหนือ) และ การบริหารจัดการ 216 เป้าหมายด้วย BKK DIGITAL PLAN/ SAND BOX สำนักงานเขตมิติโครงสร้างงานและอัตรากำลังด้านคุณภาพชีวิต ระบบประเมินผลงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 65)
Tags: lifestyle, กทม., ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ทวิดา กมลเวชช, วิศณุ ทรัพย์สมพล, ศานนท์ หวังสร้างบุญ